Home
เส้นทางสู่อาชีพด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ - ตอนที่ 1
ด้วยเศรษฐกิจยุคดิจิทัลกำลังเฟื่องฟูมีการขยายฐานการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้นภายในประเทศของเรา ส่งผลให้ตลาดแรงงานด้านเทคโนโลยีคึกคักมากเป็นพิเศษ มีข้อมูลจากหลายแหล่งฟันธงให้อาชีพด้านเทคโนโลยีติด 1 ใน 3 หลายคนจึงมุ่งหวังที่จะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อประกอบอาชีพด้านเทคโนโลยีด้วยเหตุที่รู้กระแสข่าวมาว่าความต้องการคนทำงานในตำแหน่งนี้มีอัตราสูงมากและได้รับค่าตอบแทนในอัตราสูงอีกด้วยโดยเฉพาะตำแหน่งงานภาคเอกชน บริษัท โรงงาน และห้างร้าน ส่วนตำแหน่งงานในภาครัฐจะได้รับเงินเดือนในอัตราที่น้อยกว่าภาคเอกชนและใกล้เคียงกับอัตราเงินเดือนของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาที่ไม่ใช่เทคโนโลยี แล้วที่ว่าอาชีพด้านเทคโนโลยีมีขอบเขตอย่างไร แต่ละด้านคืออะไร ทำงานอะไร และจะเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ที่ไหน บทความนี้มีคำตอบให้ทุกท่านที่อ่านจนจบ
คำว่า “เทคโนโลยี” หมายถึง การนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางปฏิบัติงาน การผลิต และการบริการทางด้านอุตสาหกรรม ดังนั้นอาชีพด้านเทคโนโลยีจึงครอบคลุมงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (บางสาขา) และบริหารธุรกิจ (บางสาขา) อาชีพด้านเทคโนโลยีที่จะกล่าวถึงนี้จะเน้นเฉพาะผู้ที่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และบริหารธุรกิจ (บางสาขา) ในความเป็นจริงยังมีหลักสูตรระดับปริญญาโทและเอก แต่ไม่ขอกล่าวถึงเนื่องจากผู้ประกอบส่วนมากหรือเกือบทั้งหมดจะรับเฉพาะผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนี้เข้าทำงาน ส่วนผู้ที่จบระดับปริญญาโท/เอกส่วนมากจะเลือกเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย/วิทยาลัย หรือเป็นวิทยากร ต่อไปจะพูดถึงขอบเขตและงานปฏิบัติงานของแต่ละสาขาวิชาและการเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ
1. วิศวกรรมศาสตร์
ปริญญา – วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.)
ระยะเวลาเรียน – 4 ปี (ต่อจาก ม.6)
วิชาที่เน้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
วิศวกรรมศาสตร์ทั่วไป - คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ
วิศวกรรมเคมี/วิศวกรรมสุขาภิบาล/วิศวกรรมอาหาร เพิ่มวิชาเคมี
วิศวกรรมชีวการแพทย์/วิศวกรรมสุขาภิบาล/วิศวกรรมอาหาร เพิ่มวิชาเคมี ชีววิทยา
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์/วิศวกรรมซอฟท์แวร์ เพิ่มวิชาวิทยาการคำนวณ เทคโนโลยีสารสนเทศ ขั้นตอนวิธี (Algorithm) โปรแกรมภาษา C/Python
หลักสูตรการเรียนโดยย่อ - คณิตศาสตร์ขั้นสูง ฟิสิกส์ขั้นสูง พื้นฐานวิศวกรรม วิชาเฉพาะทางด้านเครื่องกล โยธา ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ และฝึกงาน
สาขาด้านวิศวกรรมศาสตร์
วิศวกรรมเครื่องกล
ขอบเขตงาน - ใช้ความรู้ด้าน ฟิสิกส์ เคมี มาประยุกต์ใช้กับงานด้านเครื่องยนต์กลไกและ พลังงาน การออกแบบและตรวจสอบเครื่องจักรกล เช่น ระบบไฮดรอลิก หุ่นยนต์ การบินของอากาศยาน การควบคุมการผลิตเครื่องจักรกล ยานยนต์ อากาศยาน ระบบทำความร้อนและความเย็น เป็นต้น
การประกอบอาชีพ - วิศวกรเครื่องกล ด้านยานยนต์ โรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงาน โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ ผลิตสำรวจน้ำมันและก๊าซ ซ่อมบำรุงโรงงาน โรงไฟฟ้า โรงงานกลั่นน้ำมัน-ปิโตรเคมี ระบบทำความเย็นและปรับอากาศ เป็นต้น
วิศวกรรมยานยนต์
ขอบเขตงาน - นำเทคโนโลยีพื้นฐานความรู้ทางวิศวกรรมเครื่องกลมาประยุกต์ใช้ในด้านการออกแบบและด้านการผลิต มีความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต และรู้จักการใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ทันสมัยอย่างมีประสิทธิภาพและรองรับความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบันที่มีอยู่มากมาย
การประกอบอาชีพ - วิศวกรยานยนต์ นักวิจัยวิจัยยานยนต์ นักออกแบบยานยนต์ ฯลฯ
วิศวกรรมโยธา
ขอบเขตงาน - วางแผนและควบคุมการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน สะพาน อุโมงค์ ระบบขนส่ง อาคาร และระบบสุขาภิบาล วิจัยและให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคในการใช้วัสดุและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การประกอบอาชีพ - วิศวกรโยธา วิศวกรสำรวจ วิศวกรด้านโครงสร้าง วิศวกรด้านควบคุมและออกแบบระบบจราจร ฯลฯ
วิศวกรรมไฟฟ้า
ขอบเขตงาน - การประยุกต์การใช้ไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการวิเคราะห์ การผลิตและส่งถ่ายพลังงานไฟฟ้า การจัดการกับสัญญาณไฟฟ้า อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - วิศวกรไฟฟ้า ด้านออกแบบ ควบคุม ติดตั้ง ดูแลระบบไฟฟ้าและระบบส่องสว่าง ระบบสายไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน และในน้ำ ระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ควบคุมโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนพลังน้ำผลิตไฟฟ้า โรงงานผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ชิ้นส่วนไฟฟ้า ฯลฯ
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ / วิศวกรรมระบบสารสนเทศและเครือข่าย
ขอบเขตงาน - การออกแบบและการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แต่เน้นที่ฮาร์ดแวร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรมควบคุมฮาร์ดแวร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ศึกษา ค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรคอมพิวเตอร์ นักพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ ออกแบบ สร้าง ควบคุมและบำรุงรักษาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ควบคุมและทดสอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
วิศวกรรมอุตสาหการ / วิศวกรรมการผลิต / เทคโนโลยีระบบการผลิต-การจัดการอุตสาหกรรม
ขอบเขตงาน - การบริหารจัดการ การออกแบบอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิตต่างๆ รวมไปถึงการควบคุมเครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตสมัยใหม่ วิเคราะห์วัตถุดิบก่อนการผลิต ควบคุมและตรวจสอบการผลิต ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มกำไร และประสิทธิการในการทำงาน โดยใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมด้านต่างๆ เช่น การวิเคราะห์และสังเคราะห์ทางวิศวกรรมเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น
การประกอบอาชีพ – วิศวกรโรงงาน ด้านการผลิต การวางแผนผลิต บริหาร จัดการและตรวจสอบคุณภาพการผลิตและผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
วิศวกรรมชีวการแพทย์
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อออกแบบ สร้าง พัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์สมัยใหม่ เครื่องตรวจโรค ฯลฯ ศึกษา ค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การสร้างอวัยวะเทียม เครื่องมือ-อุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ระบบวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เครื่องช่วยชีวิต เครื่องผ่าตัดสมองกล ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรชีวการแพทย์ในโรงงานผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ โรงพยาบาล ผู้ขาย สาธิต บำรุงรักษา และซ่อมแซมอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์
วิศวกรรมเคมี
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกลและเคมี/ชีวเคมีเพื่อการออกแบบ วางแผน ควบคุมกระบวนการทางเคมี และพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเคมี โดยใช้กระบวนการกายภาพ เคมี และชีวเคมีของวัสดุให้กลายไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการอย่างปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การประกอบอาชีพ – วิศวกรควบคุมระบบและกระบวนการผลิตทางเคมีในโรงงาน วิศวกรที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม นักวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมเคมีและผลิตภัณฑ์ทางเคมี
วิศวกรรมปิโตรเลียม / วิศวกรรมปิโตรเคมี / วิศวกรรมปิโตรเลียม-ก๊าซธรรมชาติ
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสำรวจ ธรณีวิทยา และเคมี เพื่อการสำรวจ ตรวจสอบ ทดสอบ วางแผนขุดเจาะน้ำมันดิบและการกลั่นน้ำมันดิบให้ได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาน้ำมันหล่อลื่น ยางมะตอยราดถนน ฯลฯ ทำงานส่วนใหญ่อยู่ในแหล่งขุดเจาะน้ำมันบนพื้นดิน กลางทะเล และโรงกลั่นน้ำมัน
การประกอบอาชีพ – วิศวกรปิโตรเลียมในแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบภาคพื้นดิน (ส่วนมากอยู่กลางทะเลทราย)/ภาคพื้นน้ำ (กลางทะเล) วิศวกรปิโตรเคมีในโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบ ฯลฯ
วิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสำรวจ ธรณีวิทยา และเคมีเพื่อการสำรวจและวางแผนขุดเจาะแร่และน้ำมันดิบ ออกแบบ สร้าง ควบคุม ตรวจสอบ และบำรุงรักษาระบบการขุดเจาะแร่และน้ำมันดิบ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรสำรวจ ขุดเจาะแร่/แหล่งน้ำมันดิบ วิศวกรโรงกลั่นน้ำมันดิบ วิศวกรโรงงานผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบ ฯลฯ
วิศวกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ / วิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์
ขอบเขตงาน – ออกแบบและควบคุมระบบการขนส่ง จัดเก็บ และเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ วิเคราะห์และวิจัยปัญหาในการผลิตด้านอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหา เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า
การประกอบอาชีพ – วิศวกรประจำคลังสินค้า วิศวกรจัดซื้อ วิศวกรขนส่ง วิศวกรออกแบบระบบขนถ่ายวัสดุ วิศวกรออกแบบบรรจุภัณฑ์ วิศวกรบริหารนักวิเคราะห์ธุรกิจและโมเดลโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการธุรกิจด้านโลจิสติกส์ วิศกรออกแบบและวางแผนระบบการให้บริการโลจิสติกส์ ฯลฯ
วิศวกรรมระบบขนส่งทางราง
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ และควบคุมระบบรถไฟความเร็วสูงในตัวขบวนรถไฟ ระบบงานโยธา ระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณและการควบคุม ระบบขับเคลื่อนและส่งจ่ายกำลังไฟฟ้า การจัดการเดินรถและการซ่อมบำรุง
การประกอบอาชีพ – วิศวกรรถไฟ วิศวกรรถไฟความเร็วสูง วิศวกรรถไฟฟ้าในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัท และโรงานด้านการผลิตรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ
วิศวกรรมการบินและอวกาศ
ขอบเขตงาน – วิจัย ออกแบบ และวิเคราะห์โครงสร้างรูปร่างทางการเคลื่อนที่ของวัตถุภายใต้การกระทำของแรง (พลศาสตร์) เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบินที่เกี่ยวกับระบบขับเคลื่อน วัสดุ และกรรมวิธีในการผลิต การวางแผนและควบคุมการสร้างเครื่องบิน ขีปนาวุธ ยานอวกาศ ดาวเทียม เครื่องร่อน โดรน ฯลฯ ทดสอบและซ่อมบำรุงอากาศยาน ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรประจำท่าอากาศยาน วิศวกรในโรงงานผลิตและซ่อมแซม อากาศยาน ฯลฯ
วิศวกรรมอาหาร
ขอบเขตงาน – ออกแบบ การวางแผนผัง ตรวจสอบ สร้าง และบำรุงรักษาโรงงานผลิตอาหาร กระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เครื่องจักรผลิตอาหาร ระบบสุขอนามัยและมาตรฐานสากลด้านการผลิตอาหาร/ผลิตภัณฑ์อาหาร ระบบสนับสนุนด้านการผลิตอาหาร เช่น ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ ระบบขนส่ง ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรออกแบบและพัฒนาเครื่องจักรกลแปรรูปอาหาร กระบวนการผลิตอาหาร เจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ
วิศวกรรมการเกษตร
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้วิศวกรรมเครื่องจักรกลและเกษตรศาสตร์เพื่อคิดค้น วิจัย และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และเครื่องจักรกลการเกษตร ตรวจสอบ บำรุงรักษา และซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร การแปรรูปผลิตผลเกษตร การควบคุมคุณภาพผลิตผล การจัดการสินค้าเกษตร ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรเครื่องกลการเกษตร วิศวกรซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตรในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และโรงงานประเภทอื่น ๆ วิศวกรที่ปรึกษาออกแบบระบบจัดการด้านการเกษตร วิศวกรฝ่ายขาย เครื่องมือ เครื่องจักรด้านการเกษตร ฯลฯ
วิศวกรรมการเกษตรอัจฉริยะ
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้และทักษะสมัยใหม่ด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกล วิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เพื่อคิดค้น วิจัย และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์สำหรับระบบอุตสาหกรรมการเกษตรตั้งแต่แปลงเพาะปลูกไปจนถึงมือผู้บริโภค เช่น โรงเรือนเพื่อการผลิตพืช (Greenhouse) หุ่นยนต์เพื่อการเกษตร ระบบเกษตรแม่นยำ ภูมิสารสนเทศ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อการเกษตร เทคโนโลยีการแปรรูปผลิตผลเกษตร การควบคุมคุณภาพผลิตผล ตลอดจนการจัดการเกษตรเชิงพาณิชย์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรการเกษตรด้านเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์การเกษตร ระบบโรงเรือน-ไร่/นา/สวน/ฟาร์มแบบอัตโนมัติ ฯลฯ
วิศวกรรมซอฟต์แวร์
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานและวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบ ตรวจสอบ และควบคุมกระบวนการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ ด้านวิศวกรรมความรู้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การทำเหมืองข้อมูล คลังข้อมูล ระบบช่วยตัดสินใจ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรออกแบบ ตรวจสอบ และควบคุมซอฟต์แวร์ วิศวกรความรู้และคลังข้อมูล วิศวกรไซเบอร์ วิศวกรป้องกันภัยเพื่อความมั่นคงของประเทศวิศวกรประเมินราคาซอฟต์แวร์ โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ฯลฯ
วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ / วิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮารด์แวร์ ซอฟต์แวร์ วงจรอนาล็อกดิจิตอล การประมวลผลสัญญาณ ฯลฯ แบ่งเป็นเซนเซอร์อัจฉริยะ วงจรรวมสำหรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ การประมวลผลสัญญาณด้วยปัญญาประดิษฐ์ และวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป
การประกอบอาชีพ – วิศวกรออกแบบวงจรรวม วิศวกรระบบฝังตัวและไอโอที วิศวกรซอฟต์แวร์ วิศวกรหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ นักวิจัยเซ็นเซอร์อัจฉริยะวิศวกรออกแบบเครื่องมือทางด้านการแพทย์สมัยใหม่ ฯลฯ
วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ / วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์-หุ่นยนต์ / วิศวกรรมระบบอัตโนมัติ / วิศวกรรมระบบอัจฉริยะ / เทคโนโลยีการวัดและระบบอัจฉริยะ
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมการควบคุมอัตโนมัติ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อออกแบบและสร้างส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงและหุ่มยนต์ทางอุตสาหกรรมและการแพทย์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรระบบอัตโนมัติ วิศวกรหุ่นยนต์ วิศวกรเครื่องมือกล/ระบบสมองกล วิศวกรออกแบบ ตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพการผลิตส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ฯลฯ
วิศวกรรมโทรคมนาคม / วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อประมวลผลสัญญาณดิจิทัลและเครือข่ายข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ในระบบสื่อสารทางสายและไร้สาย
การประกอบอาชีพ – วิศวกรโทรคมนาคม วิศวกรรไฟฟ้าสื่อสาร วิศวกรศูนย์ควบคุมดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร
วิศวกรรมโลหการ
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านโลหวิทยา และวัสดุศาสตร์ด้านโลหะ ตั้งแต่กระบวนการศึกษาโลหะในสภาวะสินแร่ กระบวนการคัดแยกโลหะออกจากสินแร่ กระบวนการปรับปรุงคุณภาพโลหะโดยการทำให้บริสุทธิ์หรือการปรุงแต่งเพื่อความเหมาะสมตามคุณสมบัติที่ต้องการ การนำโลหะมาขึ้นรูปในลักษณะของโลหะรูปพรรณ การขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือวัตถุ ตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพโลหะที่ขึ้นรูป
การประกอบอาชีพ – วิศวกรในโรงงานผลิตเหล็ก
วิศวกรรมวัสดุ
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์และวัสดุศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรมการผลิตทุกประเภท ได้แก่ โลหะ พอลิเมอร์ ยาง เซรามิกส์ แก้ว และวัสดุผสม ออกแบบ ตรวจสอบ และควบคุมระบบการผลิตวัสดุต่างๆ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรการผลิตวัสดุ
วิศวกรรมวัสดุนาโน
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุศาสตร์ และนาโนเทคโนโลยีเพื่อนำไปออกแบบ พัฒนา ปรับปรุง และตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุนาโน (nanomaterials) เป็นวัสดุที่มีอนุภาคขนาด 1 - 100 นาโนเมตร (เท่ากับ 0.000000001 - 0.0000001 เมตร หรือ 0.0000001 - 0.00001 เซนติเมตร) ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น โลหะ พลาสติก เซรามิก เสื้อผ้า วัสดุทดแทนไม้/เหล็ก ฯลฯ สารกึ่งตัวนำไฟฟ้าสำหรับทำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อวัยวะเทียม เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรโรงงานผลิตวัสดุนาโน วิศวกรตรวจสอบคุณภาพวัสดุนาโน ฯลฯ
วิศวกรรมการชลประทาน
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านวิศวกรรมวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสำรวจ วิศวกรรมชลศาสตร์ อุทกวิทยา ธรณีวิทยา วิทยาการคอมพิวเตอร์ และภูมิสารสนเทศเพื่อออกแบบวางแผน จัดทำโครงสร้าง ตรวจสอบ ประเมินผลและบำรุงรักษาระบบเก็บกักน้ำ-ส่งน้ำ-ระบายน้ำ ระบบประปา สร้างแบบจำลองในการวิเคราะห์ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรชลประทาน สังกัดกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การประปา กรมอุตุนิยมวิทยา กรมน้ำบาดาล กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ฯลฯ
วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม / วิศวกรรมสุขาภิบาล
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านเคมี ชีววิทยา ชีวเคมี สิ่งแวดล้อม วิศวกรรมโยธา การชลประทาน อุตุนิยมวิทยา สมุทรศาสตร์ และสาธารณสุข เพื่อปรับปรุงสภาวะแวดล้อม สร้างที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยและการพัฒนาของมนุษย์ แก้ปัญหาสุขอนามัยภายในโรงงานอุตสาหกรรม การขจัดและบำบัดมลพิษทางน้ำ อากาศ ดิน ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรสิ่งแวดล้อม วิศวกรสุขาภิบาล วิศวกรการประปา วิศวกรระบบคุณภาพน้ำ วิศวกรระบบสุขอนามัย ฯลฯ
วิศวกรรมสำรวจ
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ ธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์พื้นฐาน และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อการวางแผน การรังวัด การคำนวณและวิเคราะห์รายละเอียดของพื้นผิวโลกสำหรับทำแผนที่ แผนผัง ขอบเขต กำหนดค่าพิกัด ฯลฯ ออกแบบถนน เขื่อน การรังวัดที่ดิน งานชลประทาน งานปฎิรูปที่ดิน งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ งานผังเมือง ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรสำรวจที่ดิน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ผังเมือง ฯลฯ
วิศวกรรมความปลอดภัย / วิศวกรรมด้านความปลอดภัย-การพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์พื้นฐาน วิทยาการคอมพิวเตอร์ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสุขศาสตร์อุตสาหกรรม เพื่อออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ ควบคุม และประเมินผลระบบความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงในการทำงานภาคอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการบริการ และรัฐ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรความปลอดภัย นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม นักอาชีวอนามัย พนักงานตรวจสอบความปลอดภัย ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ให้บริการตรวจวัดสภาพแวดล้อม ฯลฯ
วิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อออกแบบ สร้าง ควบคุม ตรวจสอบ และบำรุงรักษาระบบควบคุมและเครื่องมือวัด และระบบอัตโนมัติในระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
การประกอบอาชีพ – วิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด วิศวกรระบบอัตโนมัติด้านพลังงาน การเกษตร สาธารณสุข ฯลฯ
วิศวกรรมกระบวนการชีวภาพ
ขอบเขตงาน - ประยุกค์ความรู้ การศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้เป็นกระบวนการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบทางด้านการเกษตร คิดค้นเครื่องจักรสำหรับผลิตเชิงอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์และระบบการผลิตต่างๆ คล้ายกับสาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร วิศวกรรมอาหาร เทคโนโลยีอาหาร
การประกอบอาชีพ - วิศวกรกระบวนการชีวภาพในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ
วิศวกรรมข้อมูล
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ สถิติ และวิศวกรรมซอฟท์แวร์เพื่อรวบรวมข้อมูลดิบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ สร้างชุดข้อมูลที่ง่ายต่อการวิเคราะห์ พัฒนาระบบเข้าถึงข้อมูล การแปลงข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวางแผนบริหารจัดการและการตัดสินใจทางธุรกิจ สร้างแบบจำลองในการนำไปใช้ทำนาย/คาดการณ์ทางธุรกิจ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - วิศกรข้อมูล นักสร้างระบบข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ
วิศวกรรมคอนเสิร์ตและมัลติมีเดีย
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมระบบเสียง สี และแสง วิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรมเพื่อออกแบบโครงสร้างเวทีการแสดงต่างๆ การจัดนิทรรศการ การจัดห้องประชุมขนาดใหญ่ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - วิศกรคอนเสิร์ตและมัลติมีเดียในงานแสดงต่างๆ วิศวกรในโรงงานผลิตอุปกรณ์/เวทีการแสดง นักจัดการแสดง/นิทรรศการ ฯลฯ
วิศวกรรมดิจิทัล / วิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสาร
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และวิศวกรรมซอฟต์แวร์เพื่อพัฒนาระบบอัตโนมัติและอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) บนระบบคลาวด์ และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
การประกอบอาชีพ - วิศวกรซอฟต์แวร์ วิศวกรเครือข่าย วิศวกรความมั่นคงทางไซเบอร์ วิศวกรระบบสมองกลอัจฉริยะ โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ
(อ่านต่อตอนที่ 2)
แนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมีหลักการสำคัญ ได้แก่ (1) มีเป้าหมายของการจัดกิจกรรมที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และครอบคลุมผู้เรียนทุกคน (2) เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพตามความสนใจ ความถนัด ความต้องการ เหมาะสมกับวัยและวุฒิภาวะ (3) เป็นกิจกรรมที่ปลูกฝังและส่งเสริมจิตสำนึกในการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมในลักษณะต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และ (4) เป็นกิจกรรมที่ยึดหลักการมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน องค์กร และหน่วยงานอื่น มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม
Page 3 of 3