(ต่อจากตอนที่ 1)
2. วิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี และด้านอื่นๆ
ปริญญา – วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) เทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.)
ระยะเวลาเรียน – 4 ปี (ต่อจาก ม.6)
วิทยาการคอมพิวเตอร์
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาการคำนวณ ระบบคอมพิวเตอร์ การจัดการข้อมูลสารสนเทศ การเขียนโปรแกรมประมวลผลด้วยภาษาต่างๆ เช่น Python, C++, PHP, ASP, Visual Basic, Java ฯลฯ การติดตั้ง ตรวจสอบ ซ่อมแซม และบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์/ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การออกแบบและสร้างระบบฐานข้อมูล/เว็บไซต์/ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ ออกแบบและสร้างคอมพิวเตอร์กราฟิก/มัลติมีเดีย ศึกษา วิเคราะห์กาหนดคุณลักษณะของเครื่องคอมพิวเตอร์ จัดระบบติดตั้ง เชื่อมโยงระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ ศึกษา วิเคราะห์ออกแบบเกี่ยวกับชุดคําสั่งระบบ ชุดคาสั่งประยุกต์ การจัดทําคู่มือการใช้คําสั่งต่างๆ กําหนดคุณลักษณะ ติดตั้งและใช้เครื่องมือชุดคําสั่งสื่อสาร การจัดและบริหารระบบสารสนเทศ ดําเนินการเกี่ยวกับการกระทําผิดทางคอมพิวเตอร์และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การให้คำปรึกษาแนะนํา อบรมเกี่ยวกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ด้านต่างๆ แก่บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติงาน ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – นักวิชาการคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ นักวิเคราะห์และออกแบบระบบงานคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล ผู้ดูแลระบบเครือข่าย โปรแกรมเมอร์ ผู้ประกอบการทางด้านฮาร์ดแวร์/ซอฟต์แวร์ ฯลฯ
เทคโนโลยีสารสนเทศ / เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร / การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ / การจัดการเทคโนโลยีการผลิตและสารสนเทศ
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ ระบบคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และการจัดการข้อมูลสารสนเทศ การติดตั้งและใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูปในการทำงาน การออกแบบและสร้างเว็บไซต์เพื่อการสื่อสารองค์กร การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการบริหารและจัดการทางธุรกิจและอุตสาหกรรม จัดเตรียมและบำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์
การประกอบอาชีพ – นักออกแบบและสร้างเว็บไซต์เพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม
เทคโนโลยีการอาหาร / อุตสาหกรรมการเกษตร
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านเคมี ชีวเคมี จุลชีววิทยา เกษตรศาสตร์ สรีวิทยา และโภชนาการ เพื่อออกแบบและกำหนดสูตร/โครงสร้าง/ลักษณะผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมกับผู้บริโภค
การประกอบอาชีพ – นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้ควบคุม/ประกันคุณภาพ/ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร ฯลฯ
เทคนิคการแพทย์
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านจุลชีววิทยา โลหิตวิทยา เคมีคลินิก ภูมิคุ้มกันวิทยา ปรสิตวิทยา และพยาธิวิทยา เพื่อตรวจเลือดหาค่าต่างๆ เช่น น้ำตาล ไขมัน เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง กรดยูริค ฮอร์โมน ฯลฯ ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ ตรวจเสมหะของผู้ป่วย ตรวจเชื้อโรคต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการ สำหรับใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคของแพทย์ จัดการธนาคารเลือด/อวัยวะสำหรับปลูกถ่าย จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
การประกอบอาชีพ – นักเทคนิคการแพทย์ ตรวจโรคต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการ ผู้ควบคุมและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจโรคทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ศูนย์วิจัยทางการแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ฯลฯ
จุลชีววิทยา
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านชีววิทยาเพื่อตรวจเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต ฯลฯ ด้วยการเพาะเชื้อ การใช้กล้องจุลทรรศน์ การใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ สำหรับใช้ประกอบการตรวจเชื้อโรคของนักเทคนิคการแพทย์/แพทย์ ฯลฯ ตรวจสิ่งปนเปื้อนในอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – นักวิทยาศาสตร์ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล หน่วยราชการ นายตำรวจนิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
รังสีเทคนิค
ขอบเขตงาน – ถ่ายเอ็กเรย์ (x-ray) อวัยวะของร่างกายตามที่แพทย์กำหนด ดูแลบำรุงรักษาเครื่องเอ็กเรย์ ช่วยงานรังสีแพทย์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – นักรังสีเทคนิค นักรังสีการแพทย์
กายอุปกรณ์
ขอบเขตงาน – ออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ ประเมินคุณภาพ และซ่อมแซมอวัยวะเทียมหลักเพื่อทดแทนอวัยวะของร่างกายมนุษย์จริง เช่น ขาเทียม แขนเทียม มือเทียม ข้อต่อเทียม ดวงตาเทียม ฟันเทียม ฯลฯ และอวัยวะเทียมเสริมเพื่อช่วยให้ช่วยอวัยวะที่ผิดปกติสามารถกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับอวัยวะปกติ เช่น แผ่นรองในรองเท้า เหล็กพยุงขา เหล็กพยุง/ดัดหลัง ไม้เท้า โครงเหล็กช่วยพยุงร่างกายและเดิน อุปกรณ์ประคองคอ/แขน/ขา ฯลฯ สาขานี้มีเปิดเรียนแห่งเดียวในประเทศไทยที่โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การประกอบอาชีพ – นักกายอุปกรณ์ ทำแขน/ขาเทียม ฟันปลอม ข้อเข่าเทียม ฯลฯ
ทัศนมาตรศาสตร์
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านชีววิทยาและกายวิภาคศาสตร์เบื้องต้น เพื่อตรวจวัดสายตา ระบบการมองเห็น และสุขภาพตาเบื้องต้นของมนุษย์ รักษาปัญหาด้านสายตาและความผิดปกติของกล้ามเนื้อตาเป็นหลัก โดยใช้แว่นตาและเลนส์แก้วตาเทียมในการบำบัดรักษา ตรวจสายตาด้วยอุปกรณ์สมัยใหม่ระบบดิจิทัล และส่งต่อคนไข้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพตาหรือโรคตาไปยังจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป (สาขานี้มีหลักสูตรปริญญาตรี 6 ปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยรังสิต)
การประกอบอาชีพ - นักทัศนมาตรในร้านแว่นตา คลินิกสายตา โรงงานผลิตแว่นตาและเลนส์แก้วตาเทียม
วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านเคมี ชีวเคมี พฤกษศาสตร์ วิทยาการสมุนไพร วิทยาศาสตร์ผิวหนัง และเภสัชวิทยาเบื้องต้น เพื่อการผลิต การทดสอบประสิทธิภาพ การประเมินประสิทธิผลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางด้วยวัตถุดิบ กระบวนการ เครื่องมือ และเทคนิคทางเทคโนโลยีที่สนับสนุน
การประกอบอาชีพ – นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางในโรงงาน ผู้ประกอบอาชีพในธุรกิจเครื่องสำอาง
เทคโนโลยีความงาม
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เภสัชศาสตร์พื้นฐาน และบริหารธุรกิจ เพื่อการบริการด้านความงาม การปรนนิบัติร่างกาย การพัฒนาบุคลิกภาพ การเสริมความงาม การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การประยุกต์เทคโนโลยีทางความงาม การวิจัย การประกอบธุรกิจ การตลาด และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความงามได้อย่างเหมาะสม
การประกอบอาชีพ – นักวิชาการด้านความงามประจำสถานบริการสปา นักวิชาการด้านเครื่องสำอาง นักวิทยาศาสตร์ประจำโรงงานผลิตอุปกรณ์และเครื่องสำอางเสริมความงาม ฯลฯ
คอมพิวเตอร์กราฟิคและมัลติมีเดีย / ดิจิตอลอาร์ต / เทคโนโลยีมัลติมีเดียและการสร้างภาพเคลื่อนไหว
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และศิลปะเพื่อออกแบบรูปภาพหลายๆ มิติ ภาพเคลื่อนไหว และเกมส์ สร้างเรื่องราว ออกแบบตัวละครและฉาก การถ่ายภาพ และการตัดต่อ การสร้างสรรค์ภาพยนต์ วิทยุ โทรทัศน์ และการผลิตสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ ทางโซเชียลมีเดีย
การประกอบอาชีพ - นักออกแบบกราฟิค นักสร้างสื่อโฆษณา นักสร้างเกมส์คอมพิวเตอร์ นักออกแบบสิ่งพิมพ์ นักออกแบบนิทรรศการ ฯลฯ
ภูมิสารสนเทศศาสตร์
ขอบเขตงาน -ประยุกต์ความรู้ด้านภูมิศาสตร์ นิเวศวิทยา สถาปัตยกรรมผังเมือง สถิติ อุตุนิยมวิทยา และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อจัดการพื้นที่ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ การบริหารพื้นที่ท้องถิ่น การบริหารเมืองอัจฉริยะ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - นักภูมิสารสนเทศศาสตร์ ในหน่วยงานเกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยา ทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ ฯลฯ
เทคโนโลยีชีวภาพ
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านชีววิทยา ชีวเคมี และพันธุวิศวกรรม เพื่อพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านการแพทย์ การเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม ฯลฯ ด้านการเกษตร เป็นการดัดแปลงทางพันธุกรรมพืชเพื่อเพิ่มผลผลิต ทนต่อสภาวะแวดล้อม แมลงศัตรูพืช และโรคพืช การใช้จุลินทรีย์บำบัดมลพิษของสิ่งแวดล้อม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อสกัดสารทำผลิตภัณฑ์บำรุงดูแลสุขภาพและเครื่องสำอาง พัฒนาการผลิตรูปแบบของยาปฏิชีวนะ วัคซีน ชุดทดสอบโรค ฯลฯ พัฒนาระบบอาหารที่สร้างประโยชน์ทางคุณค่าโภชนาการได้ดี วิธีการถนอมอาหาร พัฒนาพันธุ์สัตว์ที่เจริญเติบโตได้ดีให้ผลผลิตสูง ผลิตภัณฑ์มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทนต่อโรคและสภาวะแวดล้อม
การประกอบอาชีพ - นักเทคโนโลยีชีวภาพ นักวิทยาศาสตร์ชีววภาพ ประจำห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยราชการ ฯลฯ
โภชนศาสตร์และการกำหนดอาหาร
ขอบเขตงาน - คัดกรอง ประเมินภาวะโภชนาการ วางแผนและดำเนินการให้โภชนบำบัด รวมไปถึงการประเมินการให้คำแนะนำและปรึกษาด้านโภชนาการ/โภชนบำบัดได้ จัดการและวางแผนการให้บริการอาหารปริมาณ วิจัยทางด้านโภชนศาสตร์ การกำหนดอาหาร พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ
การประกอบอาชีพ - นักโภชนาการ นักพัฒนาสูตรอาหาร ฯลฯ
วิทยาศาสตร์ข้อมูล / วิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ / วิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ สถิติ และวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อรวบรวมข้อมูลดิบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ สร้างชุดข้อมูลที่ง่ายต่อการวิเคราะห์ พัฒนาระบบเข้าถึงข้อมูล การแปลงข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวางแผนบริหารจัดการและการตัดสินใจทางธุรกิจ สร้างแบบจำลองในการนำไปใช้ทำนาย/คาดการณ์ทางธุรกิจ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - ข้อมูลวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักสถิติข้อมูล นักวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ
เคมีอุตสาหกรรม
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านเคมี ชีวเคมี และวิศวกรรมการผลิต เพื่อผลิตสินค้าทุกชนิดที่มีองค์ประกอบทางเคมีในเชิงอุตสาหกรรม
การประกอบอาชีพ - ผู้ควบคุมการผลิต นักควบคุมคุณภาพ เจ้าหน้าที่ควบคุมห้องปฏิบัติการในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โพลิเมอร์ วัสดุ อาหาร ยา/เครื่องสำอาง ฯลฯ
ฟิสิกส์อุตสาหกรรมและอุปกรณ์การแพทย์
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า/เครื่องกล/อิเล็กทรอนิกส์/คอมพิวเตอร์ และแพทยศาสตร์ เพื่อผลิตและคิดค้นเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ การสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ (ตรวจสอบความเที่ยงตรงของอุปกรณ์) ดูแลบำรุงรักษา ซ่อมแซม และจัดเตรียมเครื่องมือแพทย์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน สาขานี้คล้ายกับสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์
การประกอบอาชีพ - นักผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ผู้จำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ประจำห้องเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ประจำโรงพยาบาล ฯลฯ
วัสดุศาสตร์และพอลิเมอร์ / วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี / เทคโนโลยีวิศวกรรมพอลิเมอร์
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวัสดุและวิศวกรรมศาสตร์เพื่อศึกษาและคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างของวัสดุกับสมบัติของวัสดุ เพื่อออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพของวัสดุให้สามารถใช้ได้ตามจุดประสงค์
การประกอบอาชีพ - ผู้ควบคุมการผลิตวัสดุ นักออกแบบและสร้างวัสดุ นักวิเคราะห์วัสดุ ฯลฯ
เทคโนโลยีวิศวกรรมแม่พิมพ์และเครื่องมือ
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาตร์ เพื่อออกแบบและสร้างแม่พิมพ์โลหะและพลาสติกสำหรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ยานพาหนะ เครื่องจักกล เครื่องมือ สิ่งของเครื่องใช้ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - วิศวกรการผลิต ออกแบบ ควบคุมคุณภาพและการบำรุงรักษาแม่พิมพ์/เครื่องมือ
เทคโนโลยีวิศวกรรมการทำความเย็นและการปรับอากาศ
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์เพื่อออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ ดูแลบำรุงรักษา และซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น เช่น ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - ผู้ควบคุมการผลิตและตรวจสอบเครื่องทำความเย็น นายช่างติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น ฯลฯ
เทคโนโลยีวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน
ขอบเขตงาน - สาขานี้คล้ายกับสาขาวิศวรกรรมการบินและอวกาศ แต่เน้นการดูแลบำรุงรักษาและซ่อมแซมอากาศยาน
การประกอบอาชีพ - นายช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน
เทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมวัสดุและวิศวกรรมไฟฟ้า เพื่อการเชื่อมโลหะในการทำโครงสร้างต่างๆ
การประกอบอาชีพ - นายช่างเชื่อมโลหะ
การบริหารเครือข่ายดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ / ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ และบริหารธุรกิจ เพื่อออกแบบ สร้าง บำรุงรักษา ตรวจสอบ และบริหารจัดการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานได้ตามปกติอย่างต่อเนื่อง
การประกอบอาชีพ - นักวิชาการคอมพิวเตอร์/นักเทคโนโลยีสารสนเทศประจำศูนย์คอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์สร้างระบบตรวจสอบภัยคุกคามไซเบอร์ ตำรวจ/ทหารไซเบอร์ ฯลฯ
เทคโนโลยีสิ่งทอ
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และศิลปะ เพื่อออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ และวิเคราะห์วัสดุที่นำมาทำผืนผ้า ออกแบบสี ลวดลาย และลักษณะพื้นผิวของผ้า ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - นักวิทยาศาสตร์ในโรงงานทอผ้า
เทคโนโลยีธรณี / ธรณีวิทยา
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เคมี/ชีววิทยา ทรัพยากรธรรมชาติ และวิศวกรรมสำรวจ เพื่อค้นหา ตรวจสอบ และวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน/หิน/แร่/น้ำมันดิบ/ซากฟอสซิล ฯลฯ สาขาที่ใกล้เคียงกัน คือ วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
การประกอบอาชีพ - นักธรณีวิทยา นักสำรวจทรัพยากร นักวิเคราะห์ดิน/หิน/แร่/น้ำมันดิบ/ซากฟอสซิล ฯลฯ
ปัญญาประดิษฐ์
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมซอฟท์แวร์ ภาษาศาสตร์ และตรรกศาสตร์ เพื่อออกแบบและสร้างระบบประมวลผลเชิงลึกให้ใกล้เคียงกับความฉลาดของมนุษย์ เช่น การแปลภาษา การค้นหาเส้นทาง การแก้โจทย์ปัญหา การตอบคำถาม ฯลฯ สาขานี้คล้ายกับสาขาวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ แต่เน้นที่การเขียนโปรแกรม ไม่เน้นตัวเครื่องหรือหุ่นยนต์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - นักสร้างและควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม โปรแกรมเมอร์ระบบอัตโนมัติ
อัญมณีวิทยาและเครื่องประดับ
ขอบเขตงาน -ประยุกต์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และธรณีวิทยา เพื่อการวิเคราะห์อัญมณี
การประกอบอาชีพ - นักสำรวจ/นักวิเคราะห์เพชรพลอย นักวิทยาศาสตร์ผลิตอัญมณีเทียม
เทคโนโลยียางและพอลิเมอร์
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ เพื่อศึกษา ค้นคว้า ตรวจสอบ และวิเคราะห์ยางและพอลิเมอร์ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่และมีมวลโมเลกุลมากประกอบด้วยหน่วยเล็กๆ ของสารที่อาจจะเหมือนกันหรือต่างกันมาเชื่อมต่อกันด้วยพันธะโคเวเลนต์ ได้แก่ พอลิเมอร์ธรรมชาติ เช่น โปรตีน แป้ง เซลลูโลส ยางธรรมชาติ ฯลฯ และพอลิเมอร์สังเคราะห์ เช่น พลาสติก ไนลอน ดาครอน ลูไซต์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - ผู้ควบคุมการผลิตยางและพอลิเมอร์ในโรงงงานอุตสาหกรรม นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์/สังเคราะห์ยางและพอลิเมอร์ ฯลฯ
เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว / เทคโนโลยีการแปรูปอาหาร
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านเกษตรศาสตร์ เคมี โภชนาการ และวิศวกรรมการผลิต เพื่อสร้าง ผลิต ตรวจสอบ และวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหาร สาขานี้คล้ายกับสาขาเทคโนโลยีอาหาร แต่เน้นการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในเชิงอุตสาหกรรม
การประกอบอาชีพ - นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร
(อ่านต่อตอนที่ 3)