ด้วยเศรษฐกิจยุคดิจิทัลกำลังเฟื่องฟูมีการขยายฐานการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้นภายในประเทศของเรา ส่งผลให้ตลาดแรงงานด้านเทคโนโลยีคึกคักมากเป็นพิเศษ หลายคนจึงมุ่งหวังที่จะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อประกอบอาชีพด้านเทคโนโลยีด้วยเหตุที่รู้กระแสข่าวมาว่าความต้องการคนทำงานในตำแหน่งนี้มีอัตราสูงมากและได้รับค่าตอบแทนในอัตราสูงอีกด้วยโดยเฉพาะตำแหน่งงานภาคเอกชน บริษัท โรงงาน และห้างร้าน ส่วนตำแหน่งงานในภาครัฐจะได้รับเงินเดือนในอัตราที่น้อยกว่าภาคเอกชนและใกล้เคียงกับอัตราเงินเดือนของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาที่ไม่ใช่เทคโนโลยี แล้วที่ว่าอาชีพด้านเทคโนโลยีมีขอบเขตอย่างไร แต่ละด้านคืออะไร ทำงานอะไร และจะเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ที่ไหน บทความนี้มีคำตอบให้ทุกท่านที่อ่านจนจบ

คำว่า “เทคโนโลยี” หมายถึง การนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางปฏิบัติงาน การผลิต และการบริการทางด้านอุตสาหกรรม ดังนั้นอาชีพด้านเทคโนโลยีจึงครอบคลุมงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (บางสาขา) และบริหารธุรกิจ (บางสาขา) อาชีพด้านเทคโนโลยีที่จะกล่าวถึงนี้จะเน้นเฉพาะผู้ที่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และบริหารธุรกิจ (บางสาขา) ในความเป็นจริงยังมีหลักสูตรระดับปริญญาโทและเอก แต่ไม่ขอกล่าวถึงเนื่องจากผู้ประกอบส่วนมากหรือเกือบทั้งหมดจะรับเฉพาะผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนี้เข้าทำงาน ส่วนผู้ที่จบระดับปริญญาโท/เอกส่วนมากจะเป็นไปอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย/วิทยาลัย หรือเป็นวิทยากร ต่อไปจะพูดถึงขอบเขตและงานปฏิบัติงานของแต่ละสาขาวิชาและการเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ

1. วิศวกรรมศาสตร์
ปริญญา – วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.)
ระยะเวลาเรียน – 4 ปี (ต่อจาก ม.6)
วิชาที่เน้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
วิศวกรรมศาสตร์ทั่วไป - คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ
วิศวกรรมเคมี/วิศวกรรมสุขาภิบาล/วิศวกรรมอาหาร เพิ่มวิชาเคมี
วิศวกรรมชีวการแพทย์/วิศวกรรมสุขาภิบาล/วิศวกรรมอาหาร เพิ่มวิชาเคมี ชีววิทยา
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์/วิศวกรรมซอฟท์แวร์ เพิ่มวิชาวิทยาการคำนวณ เทคโนโลยีสารสนเทศ ขั้นตอนวิธี (Algorithm) โปรแกรมภาษา C/Python

หลักสูตรการเรียนโดยย่อ - คณิตศาสตร์ขั้นสูง ฟิสิกส์ขั้นสูง พื้นฐานวิศวกรรม วิชาเฉพาะทางด้านเครื่องกล โยธา ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ และฝึกงาน
สาขาด้านวิศวกรรมศาสตร์
วิศวกรรมเครื่องกล
ขอบเขตงาน - ใช้ความรู้ด้าน ฟิสิกส์ เคมี มาประยุกต์ใช้กับงานด้านเครื่องยนต์กลไกและ พลังงาน การออกแบบและตรวจสอบเครื่องจักรกล เช่น ระบบไฮดรอลิก หุ่นยนต์ การบินของอากาศยาน การควบคุมการผลิตเครื่องจักรกล ยานยนต์ อากาศยาน ระบบทำความร้อนและความเย็น เป็นต้น
การประกอบอาชีพ - วิศวกรเครื่องกล ด้านยานยนต์ โรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงาน โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ ผลิตสำรวจน้ำมันและก๊าซ ซ่อมบำรุงโรงงาน โรงไฟฟ้า โรงงานกลั่นน้ำมัน-ปิโตรเคมี ระบบทำความเย็นและปรับอากาศ เป็นต้น

วิศวกรรมยานยนต์
ขอบเขตงาน -  นำเทคโนโลยีพื้นฐานความรู้ทางวิศวกรรมเครื่องกลมาประยุกต์ใช้ในด้านการออกแบบและด้านการผลิต มีความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต และรู้จักการใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ทันสมัยอย่างมีประสิทธิภาพและรองรับความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบันที่มีอยู่มากมาย
การประกอบอาชีพ - วิศวกรยานยนต์ นักวิจัยวิจัยยานยนต์ นักออกแบบยานยนต์ ฯลฯ

วิศวกรรมโยธา
ขอบเขตงาน - วางแผนและควบคุมการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน สะพาน อุโมงค์ ระบบขนส่ง อาคาร และระบบสุขาภิบาล วิจัยและให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคในการใช้วัสดุและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การประกอบอาชีพ - วิศวกรโยธา วิศวกรสำรวจ วิศวกรด้านโครงสร้าง วิศวกรด้านควบคุมและออกแบบระบบจราจร ฯลฯ

วิศวกรรมไฟฟ้า
ขอบเขตงาน - การประยุกต์การใช้ไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการวิเคราะห์ การผลิตและส่งถ่ายพลังงานไฟฟ้า การจัดการกับสัญญาณไฟฟ้า อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - วิศวกรไฟฟ้า ด้านออกแบบ ควบคุม ติดตั้ง ดูแลระบบไฟฟ้าและระบบส่องสว่าง ระบบสายไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน และในน้ำ ระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ควบคุมโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนพลังน้ำผลิตไฟฟ้า โรงงานผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ชิ้นส่วนไฟฟ้า ฯลฯ

วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ / วิศวกรรมระบบสารสนเทศและเครือข่าย
ขอบเขตงาน - การออกแบบและการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แต่เน้นที่ฮาร์ดแวร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรมควบคุมฮาร์ดแวร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ศึกษา ค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรคอมพิวเตอร์ นักพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ ออกแบบ สร้าง ควบคุมและบำรุงรักษาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ควบคุมและทดสอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

วิศวกรรมอุตสาหการ / วิศวกรรมการผลิต / เทคโนโลยีระบบการผลิต-การจัดการอุตสาหกรรม
ขอบเขตงาน - การบริหารจัดการ การออกแบบอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิตต่างๆ รวมไปถึงการควบคุมเครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตสมัยใหม่ วิเคราะห์วัตถุดิบก่อนการผลิต ควบคุมและตรวจสอบการผลิต ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มกำไร และประสิทธิการในการทำงาน โดยใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมด้านต่างๆ เช่น การวิเคราะห์และสังเคราะห์ทางวิศวกรรมเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น
การประกอบอาชีพ – วิศวกรโรงงาน ด้านการผลิต การวางแผนผลิต บริหาร จัดการและตรวจสอบคุณภาพการผลิตและผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

วิศวกรรมชีวการแพทย์
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อออกแบบ สร้าง พัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์สมัยใหม่ เครื่องตรวจโรค ฯลฯ ศึกษา ค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การสร้างอวัยวะเทียม เครื่องมือ-อุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ระบบวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เครื่องช่วยชีวิต เครื่องผ่าตัดสมองกล ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรชีวการแพทย์ในโรงงานผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ โรงพยาบาล ผู้ขาย สาธิต บำรุงรักษา และซ่อมแซมอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์

วิศวกรรมเคมี
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกลและเคมี/ชีวเคมีเพื่อการออกแบบ วางแผน ควบคุมกระบวนการทางเคมี และพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเคมี โดยใช้กระบวนการกายภาพ เคมี และชีวเคมีของวัสดุให้กลายไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการอย่างปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การประกอบอาชีพ – วิศวกรควบคุมระบบและกระบวนการผลิตทางเคมีในโรงงาน วิศวกรที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม นักวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมเคมีและผลิตภัณฑ์ทางเคมี

วิศวกรรมปิโตรเลียม / วิศวกรรมปิโตรเคมี / วิศวกรรมปิโตรเลียม-ก๊าซธรรมชาติ
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสำรวจ ธรณีวิทยา และเคมี เพื่อการสำรวจ ตรวจสอบ ทดสอบ วางแผนขุดเจาะน้ำมันดิบและการกลั่นน้ำมันดิบให้ได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาน้ำมันหล่อลื่น ยางมะตอยราดถนน ฯลฯ ทำงานส่วนใหญ่อยู่ในแหล่งขุดเจาะน้ำมันบนพื้นดิน กลางทะเล และโรงกลั่นน้ำมัน
การประกอบอาชีพ – วิศวกรปิโตรเลียมในแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบภาคพื้นดิน (ส่วนมากอยู่กลางทะเลทราย)/ภาคพื้นน้ำ (กลางทะเล) วิศวกรปิโตรเคมีในโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบ ฯลฯ

วิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสำรวจ ธรณีวิทยา และเคมีเพื่อการสำรวจและวางแผนขุดเจาะแร่และน้ำมันดิบ ออกแบบ สร้าง ควบคุม ตรวจสอบ และบำรุงรักษาระบบการขุดเจาะแร่และน้ำมันดิบ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรสำรวจ ขุดเจาะแร่/แหล่งน้ำมันดิบ วิศวกรโรงกลั่นน้ำมันดิบ วิศวกรโรงงานผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบ ฯลฯ

วิศวกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ / วิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์
ขอบเขตงาน – ออกแบบและควบคุมระบบการขนส่ง จัดเก็บ และเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ วิเคราะห์และวิจัยปัญหาในการผลิตด้านอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหา เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า
การประกอบอาชีพ – วิศวกรประจำคลังสินค้า วิศวกรจัดซื้อ วิศวกรขนส่ง วิศวกรออกแบบระบบขนถ่ายวัสดุ วิศวกรออกแบบบรรจุภัณฑ์ วิศวกรบริหารนักวิเคราะห์ธุรกิจและโมเดลโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการธุรกิจด้านโลจิสติกส์ วิศกรออกแบบและวางแผนระบบการให้บริการโลจิสติกส์ ฯลฯ

วิศวกรรมระบบขนส่งทางราง
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ และควบคุมระบบรถไฟความเร็วสูงในตัวขบวนรถไฟ ระบบงานโยธา ระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณและการควบคุม ระบบขับเคลื่อนและส่งจ่ายกำลังไฟฟ้า การจัดการเดินรถและการซ่อมบำรุง
การประกอบอาชีพ – วิศวกรรถไฟ วิศวกรรถไฟความเร็วสูง วิศวกรรถไฟฟ้าในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัท และโรงานด้านการผลิตรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ

วิศวกรรมการบินและอวกาศ
ขอบเขตงาน – วิจัย ออกแบบ และวิเคราะห์โครงสร้างรูปร่างทางการเคลื่อนที่ของวัตถุภายใต้การกระทำของแรง (พลศาสตร์) เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบินที่เกี่ยวกับระบบขับเคลื่อน วัสดุ และกรรมวิธีในการผลิต การวางแผนและควบคุมการสร้างเครื่องบิน ขีปนาวุธ ยานอวกาศ ดาวเทียม เครื่องร่อน โดรน ฯลฯ ทดสอบและซ่อมบำรุงอากาศยาน ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรประจำท่าอากาศยาน วิศวกรในโรงงานผลิตและซ่อมแซม อากาศยาน ฯลฯ

วิศวกรรมอาหาร
ขอบเขตงาน – ออกแบบ การวางแผนผัง ตรวจสอบ สร้าง และบำรุงรักษาโรงงานผลิตอาหาร กระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เครื่องจักรผลิตอาหาร ระบบสุขอนามัยและมาตรฐานสากลด้านการผลิตอาหาร/ผลิตภัณฑ์อาหาร ระบบสนับสนุนด้านการผลิตอาหาร เช่น ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ ระบบขนส่ง ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรออกแบบและพัฒนาเครื่องจักรกลแปรรูปอาหาร กระบวนการผลิตอาหาร เจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ

วิศวกรรมการเกษตร
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้วิศวกรรมเครื่องจักรกลและเกษตรศาสตร์เพื่อคิดค้น วิจัย และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และเครื่องจักรกลการเกษตร ตรวจสอบ บำรุงรักษา และซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร การแปรรูปผลิตผลเกษตร การควบคุมคุณภาพผลิตผล การจัดการสินค้าเกษตร ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรเครื่องกลการเกษตร วิศวกรซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตรในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และโรงงานประเภทอื่น ๆ วิศวกรที่ปรึกษาออกแบบระบบจัดการด้านการเกษตร วิศวกรฝ่ายขาย เครื่องมือ เครื่องจักรด้านการเกษตร ฯลฯ

วิศวกรรมการเกษตรอัจฉริยะ
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้และทักษะสมัยใหม่ด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกล วิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เพื่อคิดค้น วิจัย และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์สำหรับระบบอุตสาหกรรมการเกษตรตั้งแต่แปลงเพาะปลูกไปจนถึงมือผู้บริโภค เช่น โรงเรือนเพื่อการผลิตพืช (Greenhouse) หุ่นยนต์เพื่อการเกษตร ระบบเกษตรแม่นยำ ภูมิสารสนเทศ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อการเกษตร เทคโนโลยีการแปรรูปผลิตผลเกษตร การควบคุมคุณภาพผลิตผล ตลอดจนการจัดการเกษตรเชิงพาณิชย์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรการเกษตรด้านเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์การเกษตร ระบบโรงเรือน-ไร่/นา/สวน/ฟาร์มแบบอัตโนมัติ ฯลฯ

วิศวกรรมซอฟต์แวร์
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานและวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบ ตรวจสอบ และควบคุมกระบวนการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ ด้านวิศวกรรมความรู้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การทำเหมืองข้อมูล คลังข้อมูล ระบบช่วยตัดสินใจ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรออกแบบ ตรวจสอบ และควบคุมซอฟต์แวร์ วิศวกรความรู้และคลังข้อมูล วิศวกรไซเบอร์  วิศวกรป้องกันภัยเพื่อความมั่นคงของประเทศวิศวกรประเมินราคาซอฟต์แวร์ โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ฯลฯ

วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ / วิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ 
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮารด์แวร์ ซอฟต์แวร์ วงจรอนาล็อกดิจิตอล การประมวลผลสัญญาณ ฯลฯ แบ่งเป็นเซนเซอร์อัจฉริยะ วงจรรวมสำหรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ การประมวลผลสัญญาณด้วยปัญญาประดิษฐ์ และวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป
การประกอบอาชีพ – วิศวกรออกแบบวงจรรวม วิศวกรระบบฝังตัวและไอโอที วิศวกรซอฟต์แวร์ วิศวกรหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ นักวิจัยเซ็นเซอร์อัจฉริยะวิศวกรออกแบบเครื่องมือทางด้านการแพทย์สมัยใหม่ ฯลฯ

วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ / วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์-หุ่นยนต์ / วิศวกรรมระบบอัตโนมัติ / วิศวกรรมระบบอัจฉริยะ / เทคโนโลยีการวัดและระบบอัจฉริยะ
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมการควบคุมอัตโนมัติ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อออกแบบและสร้างส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงและหุ่มยนต์ทางอุตสาหกรรมและการแพทย์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรระบบอัตโนมัติ วิศวกรหุ่นยนต์ วิศวกรเครื่องมือกล/ระบบสมองกล วิศวกรออกแบบ ตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพการผลิตส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ฯลฯ

วิศวกรรมโทรคมนาคม / วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อประมวลผลสัญญาณดิจิทัลและเครือข่ายข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ในระบบสื่อสารทางสายและไร้สาย
การประกอบอาชีพ – วิศวกรโทรคมนาคม วิศวกรรไฟฟ้าสื่อสาร วิศวกรศูนย์ควบคุมดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร

วิศวกรรมโลหการ
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านโลหวิทยา และวัสดุศาสตร์ด้านโลหะ ตั้งแต่กระบวนการศึกษาโลหะในสภาวะสินแร่ กระบวนการคัดแยกโลหะออกจากสินแร่ กระบวนการปรับปรุงคุณภาพโลหะโดยการทำให้บริสุทธิ์หรือการปรุงแต่งเพื่อความเหมาะสมตามคุณสมบัติที่ต้องการ การนำโลหะมาขึ้นรูปในลักษณะของโลหะรูปพรรณ การขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือวัตถุ ตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพโลหะที่ขึ้นรูป
การประกอบอาชีพ – วิศวกรในโรงงานผลิตเหล็ก

วิศวกรรมวัสดุ
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์และวัสดุศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรมการผลิตทุกประเภท ได้แก่ โลหะ พอลิเมอร์ ยาง เซรามิกส์ แก้ว และวัสดุผสม ออกแบบ ตรวจสอบ และควบคุมระบบการผลิตวัสดุต่างๆ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรการผลิตวัสดุ

วิศวกรรมวัสดุนาโน
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุศาสตร์ และนาโนเทคโนโลยีเพื่อนำไปออกแบบ พัฒนา ปรับปรุง และตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุนาโน (nanomaterials) เป็นวัสดุที่มีอนุภาคขนาด 1 - 100 นาโนเมตร (เท่ากับ 0.000000001 - 0.0000001 เมตร หรือ 0.0000001 - 0.00001 เซนติเมตร) ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น โลหะ พลาสติก เซรามิก เสื้อผ้า วัสดุทดแทนไม้/เหล็ก ฯลฯ สารกึ่งตัวนำไฟฟ้าสำหรับทำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อวัยวะเทียม เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรโรงงานผลิตวัสดุนาโน วิศวกรตรวจสอบคุณภาพวัสดุนาโน ฯลฯ

วิศวกรรมการชลประทาน
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านวิศวกรรมวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสำรวจ วิศวกรรมชลศาสตร์ อุทกวิทยา ธรณีวิทยา วิทยาการคอมพิวเตอร์ และภูมิสารสนเทศเพื่อออกแบบวางแผน จัดทำโครงสร้าง ตรวจสอบ ประเมินผลและบำรุงรักษาระบบเก็บกักน้ำ-ส่งน้ำ-ระบายน้ำ ระบบประปา สร้างแบบจำลองในการวิเคราะห์ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรชลประทาน สังกัดกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การประปา กรมอุตุนิยมวิทยา กรมน้ำบาดาล กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ฯลฯ

วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม / วิศวกรรมสุขาภิบาล
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านเคมี ชีววิทยา ชีวเคมี สิ่งแวดล้อม วิศวกรรมโยธา การชลประทาน อุตุนิยมวิทยา สมุทรศาสตร์ และสาธารณสุข เพื่อปรับปรุงสภาวะแวดล้อม สร้างที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยและการพัฒนาของมนุษย์ แก้ปัญหาสุขอนามัยภายในโรงงานอุตสาหกรรม การขจัดและบำบัดมลพิษทางน้ำ อากาศ ดิน ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรสิ่งแวดล้อม วิศวกรสุขาภิบาล วิศวกรการประปา วิศวกรระบบคุณภาพน้ำ วิศวกรระบบสุขอนามัย ฯลฯ

วิศวกรรมสำรวจ
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ ธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์พื้นฐาน และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อการวางแผน การรังวัด การคำนวณและวิเคราะห์รายละเอียดของพื้นผิวโลกสำหรับทำแผนที่ แผนผัง ขอบเขต กำหนดค่าพิกัด ฯลฯ ออกแบบถนน เขื่อน การรังวัดที่ดิน งานชลประทาน งานปฎิรูปที่ดิน งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ งานผังเมือง ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรสำรวจที่ดิน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ผังเมือง ฯลฯ

วิศวกรรมความปลอดภัย / วิศวกรรมด้านความปลอดภัย-การพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์พื้นฐาน วิทยาการคอมพิวเตอร์ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสุขศาสตร์อุตสาหกรรม เพื่อออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ ควบคุม และประเมินผลระบบความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงในการทำงานภาคอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการบริการ และรัฐ
การประกอบอาชีพ – วิศวกรความปลอดภัย นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม นักอาชีวอนามัย พนักงานตรวจสอบความปลอดภัย ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ให้บริการตรวจวัดสภาพแวดล้อม ฯลฯ

วิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อออกแบบ สร้าง ควบคุม ตรวจสอบ และบำรุงรักษาระบบควบคุมและเครื่องมือวัด และระบบอัตโนมัติในระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
การประกอบอาชีพ – วิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด วิศวกรระบบอัตโนมัติด้านพลังงาน การเกษตร สาธารณสุข ฯลฯ

วิศวกรรมกระบวนการชีวภาพ
ขอบเขตงาน - ประยุกค์ความรู้ การศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้เป็นกระบวนการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบทางด้านการเกษตร คิดค้นเครื่องจักรสำหรับผลิตเชิงอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์และระบบการผลิตต่างๆ คล้ายกับสาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร วิศวกรรมอาหาร เทคโนโลยีอาหาร
การประกอบอาชีพ - วิศวกรกระบวนการชีวภาพในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ

วิศวกรรมข้อมูล
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ สถิติ และวิศวกรรมซอฟท์แวร์เพื่อรวบรวมข้อมูลดิบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ สร้างชุดข้อมูลที่ง่ายต่อการวิเคราะห์ พัฒนาระบบเข้าถึงข้อมูล การแปลงข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวางแผนบริหารจัดการและการตัดสินใจทางธุรกิจ สร้างแบบจำลองในการนำไปใช้ทำนาย/คาดการณ์ทางธุรกิจ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - วิศกรข้อมูล นักสร้างระบบข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ

วิศวกรรมคอนเสิร์ตและมัลติมีเดีย
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมระบบเสียง สี และแสง วิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรมเพื่อออกแบบโครงสร้างเวทีการแสดงต่างๆ การจัดนิทรรศการ การจัดห้องประชุมขนาดใหญ่ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - วิศกรคอนเสิร์ตและมัลติมีเดียในงานแสดงต่างๆ วิศวกรในโรงงานผลิตอุปกรณ์/เวทีการแสดง นักจัดการแสดง/นิทรรศการ ฯลฯ

วิศวกรรมดิจิทัล / วิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสาร
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และวิศวกรรมซอฟต์แวร์เพื่อพัฒนาระบบอัตโนมัติและอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) บนระบบคลาวด์ และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
การประกอบอาชีพ - วิศวกรซอฟต์แวร์ วิศวกรเครือข่าย วิศวกรความมั่นคงทางไซเบอร์ วิศวกรระบบสมองกลอัจฉริยะ โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ

2. วิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี และด้านอื่นๆ

ปริญญา – วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)  เทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.)
ระยะเวลาเรียน – 4 ปี (ต่อจาก ม.6)

วิทยาการคอมพิวเตอร์
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาการคำนวณ ระบบคอมพิวเตอร์ การจัดการข้อมูลสารสนเทศ การเขียนโปรแกรมประมวลผลด้วยภาษาต่างๆ เช่น Python, C++, PHP, ASP, Visual Basic, Java ฯลฯ การติดตั้ง ตรวจสอบ ซ่อมแซม และบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์/ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การออกแบบและสร้างระบบฐานข้อมูล/เว็บไซต์/ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ ออกแบบและสร้างคอมพิวเตอร์กราฟิก/มัลติมีเดีย ศึกษา วิเคราะห์กาหนดคุณลักษณะของเครื่องคอมพิวเตอร์ จัดระบบติดตั้ง เชื่อมโยงระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ ศึกษา วิเคราะห์ออกแบบเกี่ยวกับชุดคําสั่งระบบ ชุดคาสั่งประยุกต์ การจัดทําคู่มือการใช้คําสั่งต่างๆ กําหนดคุณลักษณะ ติดตั้งและใช้เครื่องมือชุดคําสั่งสื่อสาร การจัดและบริหารระบบสารสนเทศ ดําเนินการเกี่ยวกับการกระทําผิดทางคอมพิวเตอร์และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การให้คำปรึกษาแนะนํา อบรมเกี่ยวกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ด้านต่างๆ แก่บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติงาน ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – นักวิชาการคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ นักวิเคราะห์และออกแบบระบบงานคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล ผู้ดูแลระบบเครือข่าย โปรแกรมเมอร์ ผู้ประกอบการทางด้านฮาร์ดแวร์/ซอฟต์แวร์ ฯลฯ

เทคโนโลยีสารสนเทศ / เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร / การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ / การจัดการเทคโนโลยีการผลิตและสารสนเทศ
ขอบเขตงาน – ประยุกค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ ระบบคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และการจัดการข้อมูลสารสนเทศ การติดตั้งและใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูปในการทำงาน การออกแบบและสร้างเว็บไซต์เพื่อการสื่อสารองค์กร การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการบริหารและจัดการทางธุรกิจและอุตสาหกรรม จัดเตรียมและบำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์
การประกอบอาชีพ – นักออกแบบและสร้างเว็บไซต์เพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีการอาหาร / อุตสาหกรรมการเกษตร
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านเคมี ชีวเคมี จุลชีววิทยา เกษตรศาสตร์ สรีวิทยา และโภชนาการ เพื่อออกแบบและกำหนดสูตร/โครงสร้าง/ลักษณะผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมกับผู้บริโภค
การประกอบอาชีพ – นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้ควบคุม/ประกันคุณภาพ/ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร ฯลฯ

เทคนิคการแพทย์
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านจุลชีววิทยา โลหิตวิทยา เคมีคลินิก ภูมิคุ้มกันวิทยา ปรสิตวิทยา และพยาธิวิทยา เพื่อตรวจเลือดหาค่าต่างๆ เช่น น้ำตาล ไขมัน เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง กรดยูริค ฮอร์โมน ฯลฯ ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ ตรวจเสมหะของผู้ป่วย ตรวจเชื้อโรคต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการ สำหรับใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคของแพทย์ จัดการธนาคารเลือด/อวัยวะสำหรับปลูกถ่าย จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
การประกอบอาชีพ – นักเทคนิคการแพทย์ ตรวจโรคต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการ ผู้ควบคุมและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจโรคทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ศูนย์วิจัยทางการแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ฯลฯ

จุลชีววิทยา
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านชีววิทยาเพื่อตรวจเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต ฯลฯ ด้วยการเพาะเชื้อ การใช้กล้องจุลทรรศน์ การใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ สำหรับใช้ประกอบการตรวจเชื้อโรคของนักเทคนิคการแพทย์/แพทย์ ฯลฯ ตรวจสิ่งปนเปื้อนในอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – นักวิทยาศาสตร์ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล หน่วยราชการ นายตำรวจนิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

รังสีเทคนิค
ขอบเขตงาน – ถ่ายเอ็กเรย์ (x-ray) อวัยวะของร่างกายตามที่แพทย์กำหนด ดูแลบำรุงรักษาเครื่องเอ็กเรย์ ช่วยงานรังสีแพทย์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – นักรังสีเทคนิค นักรังสีการแพทย์

กายอุปกรณ์
ขอบเขตงาน – ออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ ประเมินคุณภาพ และซ่อมแซมอวัยวะเทียมหลักเพื่อทดแทนอวัยวะของร่างกายมนุษย์จริง เช่น ขาเทียม แขนเทียม มือเทียม ข้อต่อเทียม ดวงตาเทียม ฟันเทียม ฯลฯ และอวัยวะเทียมเสริมเพื่อช่วยให้ช่วยอวัยวะที่ผิดปกติสามารถกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับอวัยวะปกติ เช่น แผ่นรองในรองเท้า เหล็กพยุงขา เหล็กพยุง/ดัดหลัง ไม้เท้า โครงเหล็กช่วยพยุงร่างกายและเดิน อุปกรณ์ประคองคอ/แขน/ขา ฯลฯ สาขานี้มีเปิดเรียนแห่งเดียวในประเทศไทยที่โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การประกอบอาชีพ – นักกายอุปกรณ์ ทำแขน/ขาเทียม ฟันปลอม ข้อเข่าเทียม ฯลฯ

ทัศนมาตรศาสตร์
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านชีววิทยาและกายวิภาคศาสตร์เบื้องต้น เพื่อตรวจวัดสายตา ระบบการมองเห็น และสุขภาพตาเบื้องต้นของมนุษย์ รักษาปัญหาด้านสายตาและความผิดปกติของกล้ามเนื้อตาเป็นหลัก โดยใช้แว่นตาและเลนส์แก้วตาเทียมในการบำบัดรักษา ตรวจสายตาด้วยอุปกรณ์สมัยใหม่ระบบดิจิทัล และส่งต่อคนไข้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพตาหรือโรคตาไปยังจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป (สาขานี้มีหลักสูตรปริญญาตรี 6 ปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยรังสิต)
การประกอบอาชีพ - นักทัศนมาตรในร้านแว่นตา คลินิกสายตา โรงงานผลิตแว่นตาและเลนส์แก้วตาเทียม

วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านเคมี ชีวเคมี พฤกษศาสตร์ วิทยาการสมุนไพร วิทยาศาสตร์ผิวหนัง และเภสัชวิทยาเบื้องต้น เพื่อการผลิต การทดสอบประสิทธิภาพ การประเมินประสิทธิผลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางด้วยวัตถุดิบ กระบวนการ เครื่องมือ และเทคนิคทางเทคโนโลยีที่สนับสนุน
การประกอบอาชีพ – นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางในโรงงาน ผู้ประกอบอาชีพในธุรกิจเครื่องสำอาง

เทคโนโลยีความงาม
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เภสัชศาสตร์พื้นฐาน และบริหารธุรกิจ เพื่อการบริการด้านความงาม  การปรนนิบัติร่างกาย การพัฒนาบุคลิกภาพ การเสริมความงาม การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การประยุกต์เทคโนโลยีทางความงาม การวิจัย การประกอบธุรกิจ การตลาด และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความงามได้อย่างเหมาะสม
การประกอบอาชีพ – นักวิชาการด้านความงามประจำสถานบริการสปา นักวิชาการด้านเครื่องสำอาง นักวิทยาศาสตร์ประจำโรงงานผลิตอุปกรณ์และเครื่องสำอางเสริมความงาม ฯลฯ

คอมพิวเตอร์กราฟิคและมัลติมีเดีย / ดิจิตอลอาร์ต / เทคโนโลยีมัลติมีเดียและการสร้างภาพเคลื่อนไหว
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และศิลปะเพื่อออกแบบรูปภาพหลายๆ มิติ ภาพเคลื่อนไหว และเกมส์ สร้างเรื่องราว ออกแบบตัวละครและฉาก การถ่ายภาพ และการตัดต่อ การสร้างสรรค์ภาพยนต์ วิทยุ โทรทัศน์ และการผลิตสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ ทางโซเชียลมีเดีย
การประกอบอาชีพ - นักออกแบบกราฟิค นักสร้างสื่อโฆษณา นักสร้างเกมส์คอมพิวเตอร์ นักออกแบบสิ่งพิมพ์ นักออกแบบนิทรรศการ ฯลฯ

ภูมิสารสนเทศศาสตร์
ขอบเขตงาน -ประยุกต์ความรู้ด้านภูมิศาสตร์ นิเวศวิทยา สถาปัตยกรรมผังเมือง สถิติ อุตุนิยมวิทยา และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อจัดการพื้นที่ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ การบริหารพื้นที่ท้องถิ่น การบริหารเมืองอัจฉริยะ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - นักภูมิสารสนเทศศาสตร์ ในหน่วยงานเกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยา ทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ ฯลฯ

เทคโนโลยีชีวภาพ
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านชีววิทยา ชีวเคมี และพันธุวิศวกรรม เพื่อพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านการแพทย์ การเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม ฯลฯ ด้านการเกษตร เป็นการดัดแปลงทางพันธุกรรมพืชเพื่อเพิ่มผลผลิต ทนต่อสภาวะแวดล้อม แมลงศัตรูพืช และโรคพืช การใช้จุลินทรีย์บำบัดมลพิษของสิ่งแวดล้อม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อสกัดสารทำผลิตภัณฑ์บำรุงดูแลสุขภาพและเครื่องสำอาง พัฒนาการผลิตรูปแบบของยาปฏิชีวนะ วัคซีน ชุดทดสอบโรค ฯลฯ พัฒนาระบบอาหารที่สร้างประโยชน์ทางคุณค่าโภชนาการได้ดี วิธีการถนอมอาหาร พัฒนาพันธุ์สัตว์ที่เจริญเติบโตได้ดีให้ผลผลิตสูง ผลิตภัณฑ์มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทนต่อโรคและสภาวะแวดล้อม
การประกอบอาชีพ - นักเทคโนโลยีชีวภาพ นักวิทยาศาสตร์ชีววภาพ ประจำห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยราชการ ฯลฯ

โภชนศาสตร์และการกำหนดอาหาร
ขอบเขตงาน - คัดกรอง ประเมินภาวะโภชนาการ วางแผนและดำเนินการให้โภชนบำบัด รวมไปถึงการประเมินการให้คำแนะนำและปรึกษาด้านโภชนาการ/โภชนบำบัดได้ จัดการและวางแผนการให้บริการอาหารปริมาณ วิจัยทางด้านโภชนศาสตร์ การกำหนดอาหาร พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ
การประกอบอาชีพ - นักโภชนาการ นักพัฒนาสูตรอาหาร ฯลฯ

วิทยาศาสตร์ข้อมูล / วิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ / วิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ สถิติ และวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อรวบรวมข้อมูลดิบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ สร้างชุดข้อมูลที่ง่ายต่อการวิเคราะห์ พัฒนาระบบเข้าถึงข้อมูล การแปลงข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวางแผนบริหารจัดการและการตัดสินใจทางธุรกิจ สร้างแบบจำลองในการนำไปใช้ทำนาย/คาดการณ์ทางธุรกิจ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - ข้อมูลวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักสถิติข้อมูล นักวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ

เคมีอุตสาหกรรม
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านเคมี ชีวเคมี และวิศวกรรมการผลิต เพื่อผลิตสินค้าทุกชนิดที่มีองค์ประกอบทางเคมีในเชิงอุตสาหกรรม
การประกอบอาชีพ - ผู้ควบคุมการผลิต นักควบคุมคุณภาพ เจ้าหน้าที่ควบคุมห้องปฏิบัติการในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โพลิเมอร์ วัสดุ อาหาร ยา/เครื่องสำอาง ฯลฯ

ฟิสิกส์อุตสาหกรรมและอุปกรณ์การแพทย์
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า/เครื่องกล/อิเล็กทรอนิกส์/คอมพิวเตอร์ และแพทยศาสตร์ เพื่อผลิตและคิดค้นเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ การสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ (ตรวจสอบความเที่ยงตรงของอุปกรณ์) ดูแลบำรุงรักษา ซ่อมแซม และจัดเตรียมเครื่องมือแพทย์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน สาขานี้คล้ายกับสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์
การประกอบอาชีพ - นักผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ผู้จำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ประจำห้องเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ประจำโรงพยาบาล ฯลฯ

วัสดุศาสตร์และพอลิเมอร์ / วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี / เทคโนโลยีวิศวกรรมพอลิเมอร์
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวัสดุและวิศวกรรมศาสตร์เพื่อศึกษาและคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างของวัสดุกับสมบัติของวัสดุ เพื่อออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพของวัสดุให้สามารถใช้ได้ตามจุดประสงค์
การประกอบอาชีพ - ผู้ควบคุมการผลิตวัสดุ นักออกแบบและสร้างวัสดุ นักวิเคราะห์วัสดุ ฯลฯ

เทคโนโลยีวิศวกรรมแม่พิมพ์และเครื่องมือ
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาตร์ เพื่อออกแบบและสร้างแม่พิมพ์โลหะและพลาสติกสำหรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ยานพาหนะ เครื่องจักกล เครื่องมือ สิ่งของเครื่องใช้ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - วิศวกรการผลิต ออกแบบ ควบคุมคุณภาพและการบำรุงรักษาแม่พิมพ์/เครื่องมือ

เทคโนโลยีวิศวกรรมการทำความเย็นและการปรับอากาศ
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์เพื่อออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ ดูแลบำรุงรักษา และซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น เช่น ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - ผู้ควบคุมการผลิตและตรวจสอบเครื่องทำความเย็น นายช่างติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น ฯลฯ

เทคโนโลยีวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน
ขอบเขตงาน - สาขานี้คล้ายกับสาขาวิศวรกรรมการบินและอวกาศ แต่เน้นการดูแลบำรุงรักษาและซ่อมแซมอากาศยาน
การประกอบอาชีพ - นายช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน

เทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมวัสดุและวิศวกรรมไฟฟ้า เพื่อการเชื่อมโลหะในการทำโครงสร้างต่างๆ
การประกอบอาชีพ - นายช่างเชื่อมโลหะ

การบริหารเครือข่ายดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ / ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ และบริหารธุรกิจ เพื่อออกแบบ สร้าง บำรุงรักษา ตรวจสอบ และบริหารจัดการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานได้ตามปกติอย่างต่อเนื่อง
การประกอบอาชีพ - นักวิชาการคอมพิวเตอร์/นักเทคโนโลยีสารสนเทศประจำศูนย์คอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์สร้างระบบตรวจสอบภัยคุกคามไซเบอร์ ตำรวจ/ทหารไซเบอร์ ฯลฯ

เทคโนโลยีสิ่งทอ
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และศิลปะ เพื่อออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ และวิเคราะห์วัสดุที่นำมาทำผืนผ้า ออกแบบสี ลวดลาย และลักษณะพื้นผิวของผ้า ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - นักวิทยาศาสตร์ในโรงงานทอผ้า

เทคโนโลยีธรณี / ธรณีวิทยา
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เคมี/ชีววิทยา ทรัพยากรธรรมชาติ และวิศวกรรมสำรวจ เพื่อค้นหา ตรวจสอบ และวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน/หิน/แร่/น้ำมันดิบ/ซากฟอสซิล ฯลฯ สาขาที่ใกล้เคียงกัน คือ วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
การประกอบอาชีพ - นักธรณีวิทยา นักสำรวจทรัพยากร นักวิเคราะห์ดิน/หิน/แร่/น้ำมันดิบ/ซากฟอสซิล ฯลฯ

ปัญญาประดิษฐ์
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมซอฟท์แวร์ ภาษาศาสตร์ และตรรกศาสตร์ เพื่อออกแบบและสร้างระบบประมวลผลเชิงลึกให้ใกล้เคียงกับความฉลาดของมนุษย์ เช่น การแปลภาษา การค้นหาเส้นทาง การแก้โจทย์ปัญหา การตอบคำถาม ฯลฯ สาขานี้คล้ายกับสาขาวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ แต่เน้นที่การเขียนโปรแกรม ไม่เน้นตัวเครื่องหรือหุ่นยนต์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - นักสร้างและควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม โปรแกรมเมอร์ระบบอัตโนมัติ

อัญมณีวิทยาและเครื่องประดับ
ขอบเขตงาน -ประยุกต์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และธรณีวิทยา เพื่อการวิเคราะห์อัญมณี
การประกอบอาชีพ - นักสำรวจ/นักวิเคราะห์เพชรพลอย นักวิทยาศาสตร์ผลิตอัญมณีเทียม

เทคโนโลยียางและพอลิเมอร์
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ เพื่อศึกษา ค้นคว้า ตรวจสอบ และวิเคราะห์ยางและพอลิเมอร์ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่และมีมวลโมเลกุลมากประกอบด้วยหน่วยเล็กๆ ของสารที่อาจจะเหมือนกันหรือต่างกันมาเชื่อมต่อกันด้วยพันธะโคเวเลนต์ ได้แก่ พอลิเมอร์ธรรมชาติ เช่น โปรตีน แป้ง เซลลูโลส ยางธรรมชาติ ฯลฯ และพอลิเมอร์สังเคราะห์ เช่น พลาสติก ไนลอน ดาครอน ลูไซต์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - ผู้ควบคุมการผลิตยางและพอลิเมอร์ในโรงงงานอุตสาหกรรม นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์/สังเคราะห์ยางและพอลิเมอร์ ฯลฯ

เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว / เทคโนโลยีการแปรูปอาหาร
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านเกษตรศาสตร์ เคมี โภชนาการ และวิศวกรรมการผลิต เพื่อสร้าง ผลิต ตรวจสอบ และวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหาร สาขานี้คล้ายกับสาขาเทคโนโลยีอาหาร แต่เน้นการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในเชิงอุตสาหกรรม
การประกอบอาชีพ - นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร

3. บริหารธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์

ปริญญา – บริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.)
ระยะเวลาเรียน – 4 ปี (ต่อจาก ม.6)

คอมพิวเตอร์ธุรกิจ / นวัตกรรมบริการดิจิตัล / ธุรกิจดิจิทัล / เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อธุรกิจ / เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อนวัตกรรมทางธุรกิจ
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และบริหารธุรกิจ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในสำนักงาน การเขียนโปรแกรมทางธุรกิจเบื้องต้น จัดการระบบฐานข้อมูล การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการทางธุรกิจ ระบบธุรกิจ/การเงินออนไลน์ ออกและและสร้างเว็บไซต์ทางธุรกิจ นำระบบสารสนเทศและการประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่กับงานธุรกิจและการจัดการภาคอุตสาหกรรมและภาคราชการ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ การวางแผนธุรกิจเชิงยุทธศาสตร์ และการติดตามประเมินผลการตอบกลับของลูกค้า/ผู้รับบริการ เฝ้าระวังการละเมิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – นักคอมพิวเตอร์/นักเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงงาน บริษัท ห้าง ร้าน หน่วยราชการ ประกอบอาชีพส่วนตัวในธุรกิจคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดแวร์/ซอฟต์แวร์)

ระบบสารสนเทศ
ขอบเขตงาน – ประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ การออกแบบ สร้างและจัดการระบบฐานข้อมูล การสร้างระบบสื่อสารข้อมูลระหว่างองค์กรกับผู้รับบริการ การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ นำระบบสารสนเทศและการประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้กับองค์กรอย่างเหมาะสม ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – นักเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงงาน บริษัท ห้าง ร้าน หน่วยราชการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ นักวิเคราะห์ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ นักวิเคราะห์ระบบสารสนเทศเพื่อการวางแผนและพัฒนา ผู้ประกอบการด้านคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดแวร์/ซอฟต์แวร์) ฯลฯ

โลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้หลายด้านโลจิสติกส์ (Logistics) เพื่อจัดการระบบขนส่ง การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ ทั้งภาคพื้นดิน ทางเรือ และทางอากาศ ออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ และวิเคราะห์กระบวนการ วิธีการ การวางแผนสินค้าคงคลัง การจัดเก็บ ควบคุม การบริหารธุรกิจ การเงิน การตลาด การจัดการทรัพยากรมนุษย์ (แรงงาน) ฯลฯ เพื่อให้สินค้า/บริการจากผู้ผลิต/ผู้ให้บริการไปถึงปลายทาง (ลูกค้า/ผู้รับบริการ) ตามความต้องการ (Demand) หรืออุประสงค์ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ/กำลังแรงงาน การผลิตสินค้า/บริการ การนำเข้าวัตถุดิบ/บริการ รวมๆ เรียกว่า ซัพพลายเชน (Supply chain) หรือโซ่อุปทาน สาขานี้คล้ายกับสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ/วิศวกรรมการผลิต แต่เน้นที่การบริหารจัดการระบบหรือบริหารธุรกิจ ไม่เน้นการสร้างระบบ กลไก และเครื่องมือ การตรวจสอบคุณภาพด้วยเครื่องมือเหมือนกับสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ/วิศวกรรมการผลิต
การประกอบอาชีพ - เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดส่งและคลังสินค้า ฝ่ายควบคุมวัตถุดิบ ฝ่ายการขนส่ง นักวิเคราะห์ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน นักวางแผน/จัดหาวัตถุดิบ/การผลิต/การกระจายสินค้า นักวิเคราะห์กระบวนการทางธุรกิจ ฯลฯ

ธุรกิจวิศวกรรม
ขอบเขตงาน - ประยุกต์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์พื้นฐาน บริหารธุรกิจ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงาน/โครงการทางวิศวกรรม โดยการบริหารจัดการ วางแผน ตรวจติดตามและประเมินผล การประเมินค่าใช้จ่าย การตลาด สัญญานิติกรรม เช่น โครงการก่อสร้างสะพาน โครงการก่อสร้างถนน  โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ฯลฯ
การประกอบอาชีพ - นักจัดการ/นักวางแผน/นักประเมินโครงการก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดประจำโครงการก่อสร้าง ฯลฯ

4. สถาปัตยกรรมศาสตร์และออกแบบ
ปริญญา - สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (สถ.บ.)
ระยะเวลาเรียน
- 5 ปี (ต่อจาก ม.6)
แบ่งเป็น
สถาปัตยกรรม - ออกแบบอาคาร สวน สนาม พิพิธภัณฑ์ เวที นิทรรศการ สถาปัตยกรรมภายใน/มัณฑนศิลป์ - ออกแบบภายในอาคาร เวทีการแสดง นิทรรศการ ฯลฯ
ภูมิสถาปัตยกรรม - ออกแบบ ปรับแต่ง ผังเมืองและที่อยู่อาศัย สนามเด็กเล่น สนามกีฬา สวนสาธารณะ สวนสัตว์ การอนุรักษ์ธรรมชาติ ป่า ต้นน้ำ การอนุรักษ์โบราณสถาน ฯลฯ
สถาปัตยกรรมไทย - ออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ลายไทย ศิลปไทย ศาสนสถาน เรือนไทยโบราณ เรือนไทยประยุกต์ในโรงแรม สถานที่พักตากอากาศ ฯลฯ
สถาปัตยกรรมผังเมือง - จัดระเบียบภูมิทัศน์ของบ้านเมือง อนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองเก่า วางแผนผังเมืองเพื่อความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่เสี่ยงต่อภัยภิบัติต่างๆ

ออกแบบอุตสาหกรรม / ศิลปอุตสาหกรรม / ออกแบบผลิตภัณฑ์ / คอมพิวเตอร์กราฟิค /การออกแบบดิจิทัล / การออกแบบนิเทศศิลป์

ปริญญา - วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) / เทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) / ศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ศป.บ.) / ศิลปบัณฑิต (ศล.บ.)
ระยะเวลาเรียน - 4 ปี
ขอบเขตงาน - ออกแบบผลิตภัณฑ์ เซรามิกส์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งของ เครื่องใช้ ของเล่น ลายผ้า แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ เวทีการแสดง สิ่งพิมพ์ กราฟิก โฆษณา ตราสัญลักษณ์ ฉลากสินค้า โทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย ฯลฯ
การประกอบอาชีพ – สถาปนิก นักออกแบบนิทรรศการ นักออกแบบพิพิธภัณฑ์ มัณฑนากร/นักออกแบบตกแต่งภายในอาคาร ภูมิสถาปนิก (ออกแบบสวน สนาม)

การเตรียมทำแฟ้มสะสมงาน (พอร์ต) ที่ดีเพื่อพิชิตใจคณะกรรมการ
การรับสมัครเข้ามหาวิทยาลัยด้วยการยื่นแฟ้มสะสมงานที่มีมากพอและเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาหรือคณะที่เลือกมากที่สุด (ร่วมกับวุฒิบัตรสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) เป็นโอกาสแรกในการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาในคณะ สาขาวิชา และมหาวิทยาลัยที่เลือกและใฝ่ฝันจะเรียนต่อทางเทคโนโลยี มากกว่าผู้ที่ไม่มีแฟ้มสะสมงาน หรือมีแฟ้มสะสมงานแต่ไม่ดีและไม่มากเพียงพอ ถ้าไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบยื่นแฟ้มสะสมงาน (อาจด้วยเหตุที่ตอบสัมภาษณ์ไม่ดี ทำตามคำสั่งของคณะกรรมการสัมภาษณ์ไม่ได้ เช่น ให้เขียนโฟลชาร์ต ภาษาซี ภาษาไพธอน ขั้นตอนวิธี-อัลกอลิธึมเบื้องต้น ฯ) ยังสามารถนำแฟ้มสะสมงานไปยื่นในรอบโควตา รอบผู้มีความสามารถพิเศษ และรอบยื่นคะแนนสอบกลาง ดังนั้น จะขอแนะนำการเตรียมแฟ้มสะสมงานที่ดีซึ่งได้ตัวอย่างจากรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จในการได้รับคัดเลือกเข้าเรียนในคณะและสาขาวิชาที่ปรารถนา ดังนี้

1. หลักฐาน เอกสาร วุฒิบัตร/ประกาศนียบัตร รูปถ่าย ที่เน้นเฉพาะสาขา

วิศวกรรมศาสตร์

  • หลักฐานการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ ภาษาซี/ไพธอน – การทำแบบฝึกหัด แก้โจทย์ (เขียนด้วยลายมือ)
  • โครงงานคอมพิวเตอร์ โครงงานหุ่นยนต์ โครงงานสิ่งประดิษฐ์
  • โครงงานเกี่ยวกับสารเคมี/น้ำมัน/สิ่งแวดล้อม/อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ทำในชั้นเรียน ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัล
  • การฝึกสร้างระบบวิศวกรรมด้วย Gigo/Lego
  • โครงการฟิสิกส์สัประยุทธ์
  • กิจกรรมตอบปัญญหาทางวิศวกรรม
  • การเขียนแบบทางวิศวกรรมเบื้องต้น
  • กิจกรรมค่ายวิชาการ/เปิดบ้าน/นิทรรศการทางวิศวกรรม/ภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัย
  • ชมนิทรรศการทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี ฯลฯ

คอมพิวเตอร์/เทคโนโลยีสารสนเทศ

  • หลักฐานการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ ภาษาซี/ไพธอน – การทำแบบฝึกหัด แก้โจทย์ (เขียนด้วยลายมือ)
  • โครงงานคอมพิวเตอร์ โครงงานหุ่นยนต์ ทำในชั้นเรียน ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัล
  • การฝึกสร้างระบบวิศวกรรมด้วย Gigo/Lego
  • การฝึกเขียนภาษาซี/ไพธอนบน Arduino/Raspberry/Kidbyte boards
  • การเขียนขั้นตอนวิธี – อัลกอลิธึม (Algorithm)
  • การเขียนแผนผังขั้นตอนการทำงาน (Flow Chart)
  • การออกแบบและสร้างเว็บไซต์ กราฟิก
  • การซ่อมคอมพิวเตอร์/แก้อาการเสียเบื้องต้น
  • การเข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิชาการทางคอมพิวเตอร์/ภาษาอังกฤษ การแข่งขันตอบปัญหา/การใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูป ฯลฯ

สถาปัตยกรรม/ออกแบบ

  • การวาดลายเส้นทั่วไป
  • การวาดลายไทย
  • การวาดลายศิลป์สมัยใหม่
  • การออกแบบโลโก้ ตราสัญญลักษณ์ สัตว์นำโชคในการแข่งขันกีฬา
  • การออกแบบสิ่งของ เครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้า เวที บูทนิทรรศการ ตู้โชว์สินค้า
  • การออกแบบสะพาน สนามเด็กเล่น สวนหย่อม ศาลาที่พักผู้โดยสาร บ้าน อาคาร ฯ
  • การสร้างโมเดลจากไม้จิ้มฟัน/ไม้เสียบไอศครีม
  • การวาดรูปสีน้ำ สีน้ำมัน คอมพิวเตอร์กราฟิก
  • กิจกรรมซ่อมแซม/ปรับปรุง/ตกแต่งรั้ว กำแพง อาคาร ศาสนสถาน สนามเด็กเล่น ฯลฯ
  • การเข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิชาการทางสถาปัตย์/ศิลปะ/การออกแบบ ฯลฯ

วิทยาศาสตร์

  • โครงงานวิทยาศาสตร์/โครงงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ทำในชั้นเรียน ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัล
  • การเข้าร่วมกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ (สัปดาห์วันวิทยาศาสตร์ นิทรรศการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ค่ายวิชาการทางวิทยาศาสตร์ เปิดบ้าน-เยี่ยมชมมหาวิทยาลัย) ภายในโรงเรียน สถานที่ราชการ หรือมหาวิทยาลัย
  • การทำผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน ฯ
  • กิจกรรมช่วยลดภาวะโลกร้อน เช่น คัดแยกขยะ ให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะ/ลดการใช้ถุงพลาสติกแก่เด็ก/ชุมชน ปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะ ปลูกป่าชายเลน ปลูกพืชทดแทนในป่าเสื่อมโทรม ฯ
  • การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
  • การทำกระดาษจากพืช/เศษกระดาษ
  • การทำและใช้ประโยชน์จากการหมักเศษอาหาร / น้ำหมักชีวภาพ ฯลฯ

บริหารธุรกิจ (คอมพิวเตอร์ธุรกิจ/ระบบสารสนเทศ)

  • การใช้โปรแกรมชุดสำนักงาน (Microsoft Offices)
  • การใช้โปรแกรมชุด Google Apps
  • โครงงานคอมพิวเตอร์ทำในชั้นเรียน ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัล
  • การสร้างฐานข้อมูลด้วย Google Sheet/Microsoft Access
  • การทำบัญชีด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
  • การเข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิชาการทางคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

2. หลักฐาน เอกสาร วุฒิบัตร/ประกาศนียบัตร รูปถ่าย ที่ทุกสาขาควรมี

  • กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ จิตอาสา เช่น เก็บกวาดถนน สนามเด็กเล่น วัด โรงเรียน สถานีอนามัย ซ่อมแซม ทาสี ปลูกต้นไม้ ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัย เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย/พิการ ผู้ประกาศเสียงตามสายของหมู่บ้าน ฯ
  • กิจกรรมครอบครัว

***สิ่งที่ไม่ควรมีในแฟ้มสะสมงาน เช่น

  • รูปเซลฟี่ตนเองในท่าทางล้อเล่น ที่ไม่ใช่การทำงาน/การบำเพ็ญประโยชน์
  • รูปถือป้ายนำขบวนงานกีฬาสีภายในโรงเรียน
  • รูปรับถ้วยรางวัลการประกวดร้องเพลง
  • รูปออกกำลังกาย เต้นรำ เต้นแอโรบิค
  • รูปเป็นนางนพมาศในวันลอยกระทง/เทพีสงกรานต์
  • ประกาศนียบัตรผู้สอบธรรมะ แข่งขันตอบปัญหาวิชาภาษไทย สังคมศึกษา ฯลฯ

การเตรียมตัวด้านภาษาอังกฤษเพื่อสมัครเรียนในหลักสูตรนานาชาติ
หลักสูตรนานาชาติมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรนานาชาติต้องมีความรู้และทักษะด้านภาษาอังกฤษในระดับดีทั้งด้านไวยากรณ์และการสื่อสาร ผู้ที่จบปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติจะได้รับอัตราเงินสูตร/อัตราค่าจ้างสูงกว่าผู้ที่จบปริญญาตรีในหลักสูตรปกติ บางแห่งจะให้ค่าภาษาเพิ่มอีกด้วยเป็นเงินหลายพันบาท มีโอกาสสูงที่จะได้ทำงานกับบริษัทต่างชาติ ได้รับคัดเลือกเดินทางไปศึกษา/ดูงานในต่างประเทศ และเลื่อนขึ้นสู่ระดับผู้บริหารระดับสูง การเตรียมตัวด้านภาษาอังกฤษ มีดังนี้

  1. คำศัพท์ - ถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา อ่านการ์ตูนภาษาอังกฤษ ดูวิดีโอภาษาอังกฤษ คัดลอกศัพท์และคำแปลลงสมุดเป็นประจำและสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องท่องคำศัพท์ พอถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นต้องอ่านข่าวภาษาอังกฤษจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เช่น บางกอกโพสต์ จะมีการเรียนรู้คำศัพท์จากข่าวดัง แปลคำศัพท์เป็นไทย คัดลอกคำศัพท์และคำแปลลงสมุดเป็นประจำและสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องท่องคำศัพท์เช่นเดียวกัน พอขึ้นขึ้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพิ่มการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศแบบออนไลน์ เช่น China Daily, The Gurdian, The New Sreeet Journal, The Straigt Time, BBC, CNN, UP เป็นต้น เลือกคำศัพท์ที่พาดหัวข้อข่าวและในเนื้อเรื่องที่เป็นคำศัพท์ยาก นำมาเขียนลงสมุด แล้วเปิดคำแปลด้วยดิกชันนารีออนไลน์ เช่น Longdoo.com แล้วเขียนคำแปล ทำแบบนี้เป็นประจำและสม่ำเสมอ จะช่วยให้จำคำศัพท์ได้มากขึ้นโดยไม่ต้องท่องจำคำศัพท์ 
  2. เพิ่มทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ - สมัครเรียนภาษาอังกฤษกับสถาบันภาษาต่างประเทศที่มีอยู่หลายแห่ง 1 - 2 คอร์ส เป็นการฝึกทักษะด้านภาษาอังกฤษทั้งศัพท์ ไวยากรณ์ การเรียงความ การพูด การฟัง และฝึกทำโจทย์วิชาต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ
  3. ฝึกเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ (assay) - ฝึกเขียนเรียงความเป็นภาษาไทยประมาณครึ่งหน้ากระดาษเอ 4 แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในครั้งแรกๆ ลองแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยไม่มีการใช้ดิกชันนารี หรือ Google Translate ถ้าทำได้ไม่ได้ให้ใช้ Google Translate ช่วยแปลงจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ แล้วคัดลอกด้วยลายมือลงสมุด (ไม่ควรใช้เทคนิค C&P - คัดลอก-copy/ตัด-cut & วาง-paste) เพราะการเขียนด้วยลายมือใจจะจดจ่ออยู่ที่คำศัพท์และประโยคจะช่วยให้จำประโยคได้โดยไม่ต้องท่องจำ ทำแบบนี้บ่อยๆ ต่อมาลองแปลโดยไม่ต้องใช้ตัวช่วยใดๆ แล้วนำไปเปรียบเทียบกับการแปลของ Google Translate ฝึกทำบ่อยๆ เป็นประจำและอย่างต่อเนื่อง จะสามารถแปลเรียงความจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษได้ดีมากยิ่งขึ้น ต่อมาฝึกเขียนเรียงความเป็นภาษาอังกฤษจากเรื่องอะไรก็ได้ที่นึกขึ้นได้ หรืออ่านเจอในหนังสือ หรือได้ยินได้ฟังมา หรือเป็นข่าวดัง เสร็จแล้วนำไปตรวจความถูกต้องของไวยากรณ์แบบออนไนล์ได้ที่ https://www.grammarcheck.net/editor/ ไม่เสียค่าใช้ โปรแกรมจะตรวจสอบคำผิดในประโยค หรือแก้ไขรูปประโยคถ้าพบว่าประโยคที่เราเขียนไม่ถูกหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ จะต้องเขียนคำแก้ในสมุดด้วยปากกาสีแดง แล้วอ่านทวนและเขียนเรียงความภาษาอังกฤษที่แก้ไขถูกต้องแล้ว ทำบ่อยๆ เป็นประจำและสม่ำเสมอจะช่วยพัฒนาการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษจะให้เขียนตอนที่สอบสัมภาษณ์ เขียนสดๆ ต่อหน้าคณะกรรมการ โดยที่กำหนดหัวเรื่อง (topic) ให้ หรือให้เลือกหัวเรื่องที่เป็นข่าวดังว่ามีเนื้อข่าวโดยย่ออะไรและเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาซึ่งจะต้องเพิ่มความคิดเห็นลงไป ภายใต้เค้าโครง "อะไร ที่ไหน อย่างไร เพราะอะไร ทำไม จะแก้ปัญหาอย่างไร" ความยาวประมาณ 1 หน้ากระดาษเอ 4
  4. สอบวัดระดับความรู้ด้านภาษาอังกฤษ - ในภาคเรียนที่ 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ควรไปสอบวัดความรู้ด้านภาษาอังกฤษที่มีการจัดสอบ เช่น
    • GE สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
    • TU-GET มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • CU-TEP จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • KU-EXITE มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    • STEP มหาวิทยาลัยศิลปากร
    • TOEIC
    • TOEFL
    • IELTS
    • Cambridge English Exam

สอบไปเรื่อยๆ หลายๆ ครั้ง จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคการเรียนที่ 1 จะได้คะแนนที่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดของหลักสูตรนานาชาติ เลือกเอาคะแนนที่ดีที่สุดยื่นประกอบเอกสารอื่นๆ ในการสมัคร  ผู้ที่ไม่ประสงค์จะเรียนหลักสูตรนานาชาติสามารถข้ามการเตรียมตัวในหัวข้อนี้

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรต่างๆ

แหล่งงาน
สืบค้นจากเว็บไซต์ jobbkk.com, jobthai.com, jobth.com

สรุป
การรู้รายละเอียดของแต่ละสาขาวิชาด้านเทคโนโลยี การเตรียมจัดทำแฟ้มสะสมงานเพื่อใช้ในการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือก แหล่งค้นคว้ารายละเอียดของสาขาวิชาที่สนใจ และแหล่งงาน จะช่วยให้มีความพร้อมในการสมัครคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในคณะ สาขาวิชาด้านเทคโนโลยีที่ปรารถนาได้ในโอกาสสูง นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วในสาขาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต้องหาทางเรียนเสริมนอกห้องเรียนแบบออนไลน์เกี่ยวกับภาษาซี/ไพธอนเบื้องต้น (ต้องมีความรู้ภาษาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 1 ภาษา) การเขียนขั้นตอนวิธี (Algorithm) และแผนผังการทำงาน (Flow chart) ให้มีทักษะและความชำนาญเพราะว่ากรรมการจะให้เขียนต่อหน้าในขณะกำลังสัมภาษณ์ บางมหาวิทยาลัยจัดให้มีการสอบข้อเขียนและปฏิบัติด้านคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์อีกด้วยเพื่อคัดกรอง สาขาสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ต้องเรียนเสริมการวาดลายเส้นโดยเลือกเรียนกับรุ่นพี่นักศึกษาสถาปัตย์/ออกแบบ หรือสถาบันกวดวิชาเข้าสถาปัตย์ ถ้าไม่มีเวลาให้เรียนรู้ทฤษฎีและหลักการที่ถูกต้องในการวาดลายเส้นจากยูทูป ฝึกบ่อยๆ จนเกิดทักษะและความชำนาญ ไม่เน้นด้านความสวยงามแต่เน้นด้านความคิดสร้างสรรค์ ส่วนหลักสูตรนานาชาตินั้นรู้ดีอยู่แล้วว่าจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด หนังสือและตำราเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้น ทักษะด้านภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับดีจนถึงดีมากจึงถูกพิจารณาเป็นคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นอันดับแรก ส่วนเกรดวิชาหลักในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) จะถูกพิจารณารองลงมาหรือบางมหาวิทยาลัยไม่พิจารณาเลยก็ได้ หรืออาจกำหนดเกณฑ์คะแนนสอบ TCAS ไว้ (แตกต่างกันในแต่ละมหาวิทยาลัย) สามารถค้นดูสถิติคะแนนสูง-ต่ำในแต่ละปีได้ที่เว็บไซต์ mytcas.com หรือใช้กูเกิ้ลค้นหาคำว่า "คะแนนสูง-ต่ำ" จะเห็นตารางข้อมูลของทุกสาขาวิชาและทุกมหาวิทยาลัย กดปุ่ม [F3] ค้นหาสาขาวิชาที่อยากดูคะแนนสูง-ต่ำ เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จะเห็นไฮไลต์ที่คำว่า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีคะแนนสูง-ต่ำ จำนวนผู้สมัคร จำนวนผู้สอบผ่าน และอื่นๆ  สุดท้ายอาจจะสืบค้นหาข้อมูลอัตราค่าจ้าง/อัตราเงินเดือน/อัตราค่าตอบแทนในแต่ละอาชีพด้านเทคโนโลยีซึ่งมีอยู่มากกมายที่แตกต่างกันทางเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจเลือกสาขาวิชา คณะ และมหาวิทยาลัยของผู้จะเรียนได้ตรงตามความรู้ ทักษะ และความพึงพอใจของผู้จะเรียนในระดับอุดมศึกษาเพื่อประกอบอาชีพด้านเทคโนโลยีต่อไป

จากที่ได้รวบรวมสาขาด้านเทคโนโยีในข้างต้น จะเห็นว่ามีหลายสาขามาก ไม่สะดวกในการดูสักเท่าไร จึงมีแนวคิดจะเขียนโค้ดและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อทำเป็นเว็บแอ๊ป จะช่วยให้การค้นหาข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โปรดติดตามตอนที่ 2 การสร้าง Wep Application ระบบข้อมูลสาขาด้านเทคโนโลยีในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย

อ้างอิง

  • วิศวกรรมศาสตร์ แต่ละสาขา เหมาะกับใคร? จบไปทำงานอะไรได้บ้าง? https://www.admissionpremium.com/engineer/news/4965
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ https://www.cpe.ku.ac.th/?page_id=95
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมการบิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ https://ase.eng.ku.ac.th/ https://curriculum.kmitl.ac.th/curriculum/วิศวกรรมขนส่งทางราง
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง https://curriculum.kmitl.ac.th/curriculum/วิศวกรรมอาหาร
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมการเกษตรอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง https://www.kmitl.ac.th/node/458 https://curriculum.kmitl.ac.th/curriculum/วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุนาโน (nanomaterials) https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/62230
  • วิทยาลัยการชลประธาน กรมชลประทาน สถาบันสมทบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ https://www.irricollege.ac.th
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร สาขาวิศวกรรมชลประทานและการจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตธัญบุรี http://ae.engineer.rmutt.ac.th/หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บ/
  • สำรวจกันหน่อย … คณะวิศวกรรมศาสตร์มีสาขาอะไรบ้างนะ ??? ตอนที่ 1 https://www.webythebrain.com/article/what-faculty-of-engineering-episode-1
  • สำรวจกันหน่อย … คณะวิศวกรรมศาสตร์มีสาขาอะไรบ้างนะ ??? ตอนที่ 2 https://www.webythebrain.com/article/what-faculty-of-engineering-episode-2
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ https://www.sau.ac.th/crouse-fe-5.html
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด https://www.u-review.in.th/th/edu/34262
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://www.eng.chula.ac.th/th/department/department-of-mining-and-petroleum-engineering
  • โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล https://www.sirirajeducationexpo.com/not-only-doctor-body-instru
  • คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง http://www.opto.ru.ac.th
  • สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง https://www.mfu.ac.th/education/program/program-bachelor/bachelor-costmetic/bsc-program-cosmetic/bachelor-cosmetic-science.html
  • รู้ก่อนเรียน สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีสาขาอะไรบ้าง? https://www.admissionpremium.com/arch/news/3465
  • สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางค์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง https://cosmeticscience.mfu.ac.th/cosmetic-sci-course/cosmetic-sci-bachelor/cosmeticscience-4838.html
  • รู้จักกับ Data Engineer และทักษะที่ต้องรู้ https://www.9experttraining.com/articles/data-engineer-คือใคร
  • วิศวกรรมคอนเสิร์ตและมัลติมีเดีย (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ https://www.edugentutor.com/content/?ctid=MjAxMTAwMTE=
  • หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยสงชลานครินทร์ https://computing.psu.ac.th/th/b-eng-digital-engineer-international-program/
  • ฟิสิกส์อุตสาหกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ พระนครเหนือ เรียนอะไรบ้าง https://www.trueplookpanya.com/tcas/article/detail/66989
  • "โลจิสติกส์" เรียนเกี่ยวกับอะไร เรียนที่ไหน จบไปทำงานอะไร https://www.admissionpremium.com/logis/news/3540