สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีแนวทางสร้างความปลอดภัย และดูแล คุ้มครองนักเรียน ในทุกมิติ ตลอดทั้งมีการพัฒนาความร่วมมือในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยการเยี่ยมบ้านนักเรียน เพื่อให้มีการเปิดเรียนอย่างมีความสุขและปลอดภัย โดยกำหนดให้ "เดือนมิถุนายน 2566 เป็นเดือนแห่งการเยี่ยมบ้านนักเรียน" โดยมีเจตนารมณ์ และหลักการพื้นฐานของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นการดำนินงานที่มีแบบแผนขั้นตอนชัดเจนในการส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน และแก้ไขปัญหา เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพบนพื้นฐานของความแตกต่างระหว่างบุคคล
โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติร่วมพัฒนา ร่วมแก้ปัญหาจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกำาหนดนโยบายสำาคัญให้สถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง จัดให้มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และดำาเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนนักเรียน ทุกคนจะต้องได้รับการดูแล ช่วยเหลือ พิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครองอย่างรอบด้านด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง เหมาะสมและทันการณ์ ได้รับการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อให้เป็นคนดี มีความสุข และปลอดภัยในสภาพสังคมปัจจุบัน โดยมีแนวทางการดำเนินการในประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การปรับเปลี่ยนบทบาทและเจตคติของผู้บริหาร ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มุ่งไปสู่ความรับผิดชอบในการดูแลพัฒนาการของนักเรียนอย่างเป็นองค์รวม (Educating the Whole Child) (2) การวางระบบที่จะสร้างความมั่นใจว่านักเรียนทุกคนมีครู อาจารย์อย่างน้อยหนึ่งคนที่จะดูแลทุกข์สุขอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยเชื่อมประสานการดำเนินงานทุกส่วนทั้งโรงเรียน (3) การสนับสนุนให้ครู อาจารย์ได้มีความสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับผู้ปกครองเพื่อให้การดูแลทางบ้าน โรงเรียน และชุมชนเชื่อมประสานกัน (4) การส่งเสริมให้ผู้ปกครองรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยกันเฝ้าระวังดูแลกลุ่มเครือข่ายช่วยเหลือสนับสนุนบุตรหลาน และ (5) การประสานสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ชุมชน และผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้มีการส่งต่อและรับช่วงการแก้ไข ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนในรูปแบบสหวิทยาการ และสหวิชาชีพ
ในการนี้จะต้องคำนึงถึงว่าข้อมูลที่ได้จากการเยี่ยมบ้านนักเรียนทั้งหมดจะนำมาใช้เฉพาะการติดตาม ประเมินความเสี่ยง และแก้ไขปัญหานักเรียนเป็นรายตัวนั้น โดยที่จะปกปิดและเก็บรักษาข้อมูลไว้เป็นความลับและยึดถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด
กรอบแนวคิดระบบจัดการข้อมูลเยี่ยมบ้านนักเรียนในเบื้องต้นจะต้องประกอบด้วยส่วนบันทึกข้อมูลนักเรียนรายตัว ส่วนถ่ายรูปบ้าน นักเรียนและ/หรือผู้ปกครอง ส่วนประมวลผลความเสี่ยงของนักเรียนรายตัว และส่วนประมวลผลรายงานผลรายตัวตามที่ค้นหา หรือทั้งหมดออกมาแสดงผลทางหน้าจอ หรือส่งออกข้อมูลสรุปในรูปแบบไฟล์ PDF สำหรับการรายงานต่อไป
ส่วนบันทึกข้อมูลนักเรียนรายตัว - ทำได้ไม่ยากด้วย Google Forms ประกอบด้วย (1) ข้อมูลพื้นฐาน เช่น เลขประจำตัว วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทศัพท์ ที่อยู่ ฯลฯ และควรจะมีพิกัดที่ตั้งเส้นรุ้ง/เส้นแวง (Latitude/Longitude) ไว้ด้วยเพื่อใช้ Google Maps หาตำแหน่งที่ตั้งของบ้าน จะได้สะดวกตอนออกเดินทางเยี่ยมบ้าน (2) สภาพรอบครัว-ที่อยู่อาศัย เช่น พ่อ แม่ ญาติ อาชีพ รายได้ ฯลฯ (3) ปัจจัยความเสี่ยงของนักเรียน เป็นปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อนักเรียน เช่น การเดินทาง ชุมชน สารเสพติด อบายมุข โซเชียล ฯลฯ (4) ปัญหา-อุปสรรคด้านการเรียนเป็นรายวิชา (5) ผู้ให้ข้อมูล ครูที่ปรึกษา และวันที่บันทึกข้อมูล และ (6) ส่วนถ่ายรูป
หลังจากสร้างแบบบันทึกการเยี่ยมบ้านแล้วจะให้นักเรียนกรอกข้อมูลในส่วนที่ (1) และครูที่ปรึกษาสัมภาษณ์บิดา มารดา ญาติ หรือผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดแล้วกรอกข้อมูลในส่วนที่เหลือ ต่อจากนั้นจะได้ข้อมูลต่างๆ ถูกจัดเป็นในรูปแบบไฟล์เอ็กเซลที่มีการกำหนดรหัสผ่านเพื่อปกป้องและเก็บรักษาข้อมูลไว้เป็นความลับ
ทางเลือกที่หนึ่งใช้ Google Docs สร้างฟอร์มรายงาน 3-4 หน้าตามที่กำหนดหรือที่ใช้กันทั่วไป และต้องใช้ Apps Script ดึงข้อมูลของนักเรียนแต่ละคนที่ได้จากแบบบันทึกไว้เป็นตาราง (sheet) ต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้ Google App ได้ค่อนข้างดีจนถึงโปรแกรมเมอร์ จะมีความยุ่งยากพอสมควรตอนแก้ไขและกำหนดค่าต่างๆ ใน Apps Script เพื่อกำหนดให้ฟอร์มรับค่าจากตารางมาแสดงในฟอร์มรายงาน ซึ่งฟอร์มรายงานที่ได้จะเป็นการรายงานข้อมูลสรุปรายตัวตั้งแต่นักเรียนคนแรกจนถึงคนสุดท้าย หากมีนักเรียนไม่มาก 30-40 คน ก็น่าจะสะดวก ถ้ามีนักเรียนเป็นร้อยจนถึงหลักพันที่ใช้วิธีนี้น่าจะไม่สะดวก และทางเลือกที่สองเป็นวิธีสำหรับโปรแกรมเมอร์โดยแปลงตางรางที่บันทึกข้อมูลต่างๆ จาก Google Form ไฟล์ให้เป็น CSV เพื่อให้โค้ดโปรแกรมภาษา PHP/Javascript สามารถเชื่อมต่อและดึงข้อมูลต่างๆ ตารางมาลงในฟอร์มรายงานที่กำหนดแล้วแสดงผลหน้าจอ หรือส่งออกไฟล์ PDF เพื่อพิมพ์รายงาน วิธีนี้ยุ่งยากกว่าแต่เขียนโค้ดไว้ครั้งเดียวก็สามารถเลือกได้ว่าจะเลือกนักเรียนเป็นรายตัว รายกลุ่มที่มีความเสี่ยง หรือเลือกนักเรียนทุกคนก็ได้
ส่วนประมวลผลความเสี่ยงในหัวข้อ (3) ปัจจัยความเสี่ยงของนักเรียน และ (4) ปัญหา-อุปสรรคด้านการเรียนเป็นรายวิชา นำแต่ละหัวข้อมาจัดอันดับคะแนน 5 ช่วง คือ 1 แทน ความเลี่ยงน้อยที่สุด และ 5 แทน ความเสี่ยงมากที่สุด นำคะแนนความเสี่ยงของนักเรียนแต่ละคนมารวมกันแล้วคิดคะแนนร้อยละ จัดคะแนนร้อยละและกำหนดสีเพื่อสื่อระดับความเสี่ยง เช่น ความเสียง 60% สีแดง แทน ความเสี่ยงมากที่สุด 45-59% สีน้ำตาล แทน ความเสี่ยงมาก 30-44% สีส้ม แทน ความเสี่ยงปานกลาง 15-29% สีเหลืองเข้ม แทน ความความเสี่ยงน้อย 10-14% สีเหลืองอ่อน แทน ความเสี่ยงน้อย 5-9% สีเขียวอ่อน แทน ความเสี่ยงค่อนข้างน้อย และน้อยกว่า 5% สีเขียว แทน ความเสี่ยงน้อยที่สุด แบบนี้เป็นแนวคิดเบื้องต้นที่กำหนดเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการจัดกลุ่มนักเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาตามช่วงระดับความเสี่ยง ไม่ได้มีกฎระเบียบหรือทฤษฎีใดๆ
การรับค่าพิกัดสถานที่ตั้งบ้านเป็นเส้นรุ้ง (Latitude) และเส้นแวง (Longitude) มีสามแนวทาง คือแนวทางแรกใช้บริการ Google APIs และเขียนโค้ดภาษา PHP/HTML/CSS/Javascript ซึ่งอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือน แนวทางที่สองใช้ Apps Script กำหนดไว้กับ Google Forms [ศึกษารายละเอียดที่ เก็บพิกัด GPS ง่าย ๆ ด้วย Google Forms โดย คุณครูเทวัญ ภูพานทอง ] มีหลักการคล้ายๆ กับที่กล่าวไว้ข้างต้น และแนวทางที่สามใช้วิธีคัดลอกเลขพิกัดจาก Google Maps ไม่ค่อยสะดวกสักเท่าไร แต่ก็ยังได้พิกัดตามที่ต้องการและไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย จะเลือกวิธีไหนก็ลองพิจารณาดูครับ
การถ่ายรูป - มี 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกใช้กล้องในโทรศัพท์มือถือถ่ายรูป จะได้ชื่อไฟล์รูปที่ไม่สื่อความหมายกับตัวนักเรียน และสร้างคำสั่งอัพโหลดรูปและแสดงผลในตารางด้วย Google Script ต้องสร้างคำสั่งในตาราง ถ้ามีนักเรียนไม่มากก็น่าจะสะดวก ถ้ามีนักเรียนมากๆ การแสดงรูปในตารางจะทำให้ความสูงของแถวมากขึ้น ดูแล้วลายตา จะเลือกนักเรียนคนไหนจะต้องเลื่อนที่ละแถว แม้ว่าในตารางจะมีคำสั่งฟิลเตอร์ที่เลือกเฉพาะกลุ่มนักเรียนได้ก็ตาม และแนวทางที่สอง คือ การเขียนโค้ดภาษา PHP/HTML/CSS/Javascript ถ่ายรูปได้จากกล้อง แล้วอัพโหลดขึ้นเซิร์ฟเวอร์หรือ Google Drive สามาถกำหนดชื่อไฟล์ที่สื่อความหมายกับนักเรียน คือ มีเลขประจำตัวนักเรียน วันที่ ตามด้วยชื่อไฟล์ที่ได้จากการสุ่ม เขียนโค้ดแสดงชื่อนักเรียนแล้วเลือกดูรูปของนักเรียนคนนั้นตามชื่อไฟล์ที่เป็นเลขประจำตัว ตรวจสอบได้ว่านักเรียนคนไหนยังไม่เยี่ยมบ้าน ยังไม่ถ่ายรูป
สรุป - ภาษา PHP/HTML/CSS/Javascript มีคำสั่งและฟังชั่นก์ในการดึงข้อมูลจากชีตที่เป็นไฟล์ CSV ที่รับค่ามาจาก Google Forms แสดงผลหน้าจอตามรูปแบบฟอร์มรายงาน หรือส่งออกไฟล์ PDF สำหรับพิมพ์รายงาน รวมตัวเลขและคำนวณค่าร้อยละ ถ่ายรูป (Snap shot) จากสมาร์ทโฟนแล้วอัพโหลดไปเก็บไว้ที่โฮสต์โดยอัตโนมัติ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ตามที่ผู้ใช้งานต้องการได้ และที่สำคัญคือ ไม่มีค่าใช้จ่ายค่าภาษา มีเพียงค่าโดเมนและค่าเช่าโฮสต์สำหรับเก็บซอร์สโค้ดและฐานข้อมูลไว้ประมวลผล ประมาณเดือนละไม่ถึงร้อยบาท ดังนั้นแนวทางนี้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าจะนำมาสร้างระบบเยี่ยมบ้านนักเรียนได้ ถ้าเขียนโค้ดตามกรอบแนวคิดนี้ได้สำเร็จ น่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ครูที่ปรึกษาที่ต้องรับผิดชอบต่อนักเรียนจำนวนมากที่มีลักษณะความหลากหลายสภาพปัญหา พื้นฐานครอบครัว และทางสังคม มีบ้านพักที่อยู่อาศัยในสถานที่ต่างๆ กัน ให้สามารถเก็บรวมรวมข้อมูลได้อย่างเพียงสำหรับการวิเคราะห์เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไขปัญหาเป็นรายตัว และตอบสนองนโยบาย paperless - ใช้กระดาษให้น้อยที่สุดจนถึงไม่มีการใช้กระดาษ. . .